กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
ที่โรงเรียนคลองบางน้ำจืด ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ นายอมร ชุมศรี ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และกรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมฯ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ และอาสาสมัคร ได้จัดกิจกรรมรักสัตว์ในโรงเรียน หัวข้อ ลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมในวิชาเรียนลูกเสือสามัญ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 133 คน โดยมี นายแมน มั่นคง ผู้อำนวยการโรงเรียนคลองบางน้ำจืด และคณะครู ให้การต้อนรับเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้
โครงการรักสัตว์ในโรงเรียนเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จนในปี พ.ศ.2549 สมาคมฯ ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยคุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น นำกิจกรรมโครงการรักสัตว์ในโรงเรียนออกเผยแพร่ตามโรงเรียนต่างๆ ที่สังกัดภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดยมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักเห็นคุณค่า เกิดความเมตตากรุณาและปฏิบัติต่อสัตว์นั้นได้อย่างถูกต้อง และเพื่อเป็นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการศึกษา ทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสอดส่องป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในการร่วมกันแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี
สำหรับการจัดกิจกรรมรักสัตว์ในโรงเรียนครั้งนี้ ได้นำแผนการจัดกิจกรรมลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ ตามข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติฯ และกฎลูกเสือข้อที่ 6 ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ ร่วมบูรณาการกับองค์ความรู้ด้านการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ FIVE FREEDOMS พร้อมทั้งกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เป็นปัจจุบัน ในด้านการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์เพื่อสวัสดิภาพคนที่ต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และเพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรมให้เป็นคนดี มีความรับผิดชอบและช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
วันนี้ได้มีการจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ 5 ฐานกิจกรรม FIVE FREEDOMS ที่สนุกสนาน เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ในหลักสากลของสวัสดิภาพสัตว์ ที่สัตว์ทุกชนิดพึงจะต้องได้รับอิสรภาพ 5 ประการ คือ อิสรภาพจากความหิวและกระหาย อิสรภาพจากความไม่สะดวกสบาย อิสรภาพจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ หรือเป็นโรค อิสรภาพจากความกลัว และความทุกข์ทรมาน และอิสรภาพที่จะแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติ อีกทั้งได้ฝึกทักษะกระบวนการของลูกเสือในการเป็นผู้สังเกต ช่วยเหลือ และสามารถเอาตัวรอดจากอันตรายได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้จริงอีกด้วย