กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--สำนักงาน กปร.
ในระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17-23 มีนาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระกระแสรับสั่งกับนายสวัสดิ์ วัฒนายากร อธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้น ให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ในลุ่มน้ำคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร และทรงรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสวนหมาก พร้อมโครงการอ่างเก็บน้ำคลองมดแดง ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำคลองสวนหมากเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งทั้ง 2 โครงการฯ นี้ ราษฎรในพื้นที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองมดแดงนั้นตั้งอยู่ที่บ้านคลองสมุยเหนือ หมู่ 7 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยคลองมดแดงเป็นลำคลองสาขาของคลองสวนหมาก ไหลลงคลองสวนหมากที่บ้านคลองไพรลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำปิง เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับราษฎร สามารถเก็บกักน้ำสูงสุดที่ 2,566,300 ลูกบาศก์เมตร พร้อมก่อสร้างระบบส่งน้ำเป็นท่อส่งน้ำ มีความยาว 6.68 กิโลเมตร ส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกของ
ราษฎรใน 3 หมู่บ้าน โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 5,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำปิงในเขตพื้นที่อำเภอคลองลานและอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชรได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำคลองมดแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ และติดตามความคืบหน้าในการใช้ประโยชน์จากโครงการฯ ของราษฎรในพื้นที่ ตลอดถึงเพื่อรับทราบความต้องการของราษฎรในพื้นที่ต่อชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมรับทราบปัญหา อุปสรรคการใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำคลองมดแดงฯ เพื่อการพัฒนาต่อยอดโครงการฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับราษฎร ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อไป
"การเดินทางมาของอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ในครั้งนี้ ก็เพื่อเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ว่ามีความเป็นอยู่เป็นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของแหล่งน้ำ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎร และพระองค์มีพระราชประสงค์ให้ราษฎรได้รับประโยชน์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างเต็มที่ หากโครงการใดสามารถขยายผลให้ราษฎรได้รับประโยชน์เพิ่มเติมก็ให้ดำเนินการ หรือโครงการเดิมที่ก่อสร้างมานานแล้วหากเกิดการชำรุดก็ให้แก้ไข เพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ก็รู้สึกดีใจและประทับใจ
ที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมดแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ ได้ให้ประโยชน์แก่ทุกคนในพื้นที่อย่างเต็มที่ และมีราษฎรในฐานะกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เข้มแข็ง มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ทุกคนในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ทำให้การดำรงชีวิต และการทำกินเป็นไปได้อย่างสะดวก" นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี กล่าว
ด้านนางศรีจันทร์ อินจม ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำคลองมดแดงฯ กล่าวว่า ก่อนมีอ่างเก็บน้ำคลองมดแดงฯ ประชาชนในพื้นที่มีความเดือดร้อนเรื่องน้ำที่จะนำมาใช้ประโยชน์มาก ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงน้ำเพื่อการเกษตร ในแต่ละวันจะต้องเดินทางไปตักน้ำจากลำห้วยใส่ภาชนะแล้วเข็นขึ้นมาที่บ้านของตัวเองด้วยความยากลำบาก
"พอมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำตามพระราชดำริ มีการเก็บกักน้ำก็ส่งผลให้ 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วยบ้านคลองสมุยเหนือ หมู่ 7 บ้านคลองสมบูรณ์ หมู่ 5 และบ้านคลองไพร หมู่ 4 ได้รับความสะดวกสบายในเรื่องน้ำจวบจนปัจจุบันถือเป็นสายเลือดเส้นใหญ่ที่หล่อเลี้ยง 3 หมู่บ้านนี้ทีเดียว" นางศรีจันทร์ อินจม กล่าว
ปัจจุบันราษฎรทั้ง 3 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำนา ปลูกพืชล้มลุกประจำฤดูการ เช่น ข้าวโพด ทำจักสานเครื่องมือทางการเกษตร และอุปกรณ์ใช้งานในชีวิตประจำวัน และจากความสมบูรณ์ของพื้นที่ ภายหลังจากมีน้ำเพียงพอทำให้ป่าไม้โดยรอบของอ่างเก็บน้ำฯ เจริญเติบโตสร้างความชุมชื้นให้กับพื้นที่มากยิ่งขึ้น ประกอบกับการดำรงชีพและการใช้ชีวิตของราษฎรยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น จึงก่อเกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเชิงนิเวศมากขึ้น
ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติที่นิยมความเป็นธรรมชาติทั้งชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนตลอดถึงระบบนิเวศ โดยได้เดินทางเข้ามาเยี่ยมชมกันอย่างอย่างต่อเนื่อง ยังผลให้ราษฎรในพื้นที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การให้บริการโฮมสเตย์ การนำวัตถุดิบในพื้นที่ที่เพาะปลูกมาประกอบอาหารแบบท้องถิ่นบริการนักท่องเที่ยว ไปจนถึงการจำหน่ายอุปกรณ์จากเครื่องจักสานแก่นักท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้เสริมช่วยจุนเจือครอบครัวเป็นอย่างดี ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่พื้นที่มีน้ำต้นทุนเพื่อการใช้สอยอย่างเพียงพอตลอดทั้งปีนั้นเอง