กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--สำนักงาน กปร.
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาในอนาคต
ทรงคาดการณ์ถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำ จึงได้มีพระราชดำริให้จัดหาแหล่งน้ำและจัดทำระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) ทำให้หลายพื้นที่พ้นจากสภาพแห้งแล้งและกลับพลิกฟื้นผืนดินกลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ในที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2532 พระองค์พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งราษฎรประสบกับปัญหาความแห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำอยู่โดยทั่วไป ขณะที่อ่างเก็บน้ำจำนวนมากที่สร้างไว้ในพื้นที่มีขนาดเล็ก สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดความจุพอสมควรก็มีเพียงอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดและอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งขามเท่านั้น จึงเห็นสมควรก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุมากๆ ตามท้องที่ต่างๆ ที่เหมาะสม อาทิ ในเขตตำบลหนองพลับ ซึ่งมีโครงการพัฒนาที่ดินหนองพลับอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ขาดแคลนน้ำมากในช่วงฤดูแล้ง
ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2535 พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้กรมชลประทานจัดหาน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพดีกว่ามาช่วยเหลืออ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดต่อไป และให้พิจารณาความเหมาะสมในการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดผ่านสันทำนบของอ่างพักน้ำเขากระปุกลงอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ที่มีสภาพขาดแคลนน้ำ เพื่อให้สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของอ่างเก็บน้ำห้วยทราย และบริเวณใกล้เคียงได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป
นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำด้วยระบบอ่างพวงนั้นเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการบริหารจัดการน้ำในลักษณะที่มีการนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณมาก สู่อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย นับเป็นระบบการจัดการน้ำด้วยการหน่วงน้ำหรือการบริหารน้ำที่กระจายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่มาก จากอ่างหนึ่งไปยังอีกอ่างหนึ่งที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่มีน้ำอย่างเพียงพอแบบทั่วถึงและเท่าเทียมกัน "ในปัจจุบันก็มีหลายๆ พื้นที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องการบริหารจัดการน้ำในระบบอ่างพวงไปปฏิบัติใช้ ที่สำคัญการบริหารจัดการน้ำของอ่างพวงตามแนวพระราชดำรินี้ จะก่อเกิดการเชื่อมโยงกันในการบริหารจัดการน้ำของประชาชนเพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน และเกิดเครือข่ายระหว่างประชาชนในแต่ละพื้นที่เข้าด้วยกัน เนื่องจากจะมีการเชื่อมโยงประสานงานในการบริหารจัดการน้ำเพื่อแบ่งปันน้ำกันอย่างต่อเนื่อง แม้พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำแต่ละอ่างจะห่างไกลกันก็ตาม และช่วยให้การใช้ประโยชน์จากปริมาณน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่แต่ละช่วงเวลาได้อย่างทั่วถึงและกว้างไกลยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการใช้น้ำเพื่อการเกษตร" นายดนุชา สินธวานนท์ กล่าว
ทางด้านนายกรณรมย์ วรรณกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี สำนักงานชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน เปิดเผยว่าการจัดทำโครงการอ่างพวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรีนั้น ได้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก บริเวณโดยรอบของอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ในขณะเดียวกันก็ให้มีการก่อสร้างระบบท่อเพื่อจะระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ๆ บริเวณโดยรอบอ่างเก็บน้ำห้วยทรายลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยทราย และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ข้างเคียงอีก 5 แห่ง เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของพื้นที่ ซึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้เรียกว่า อ่างพวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบไปด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ เหนือขึ้นไปเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม ถัดลงมาเป็นอ่างเก็บน้ำทุ่งขาม อ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย ถัดลงมาอีกเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด ทั้ง 4 อ่างนี้ เป็นต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยทราย
โดยอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่งนี้ จะมีการก่อสร้างให้เชื่อมต่อระบบน้ำเข้าด้วยกันโดยระบบท่อ เพื่อระบายน้ำส่วนเกินของอ่างที่เก็บไว้ในช่วงหน้าฝนของทุกปีปล่อยลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยทราย ในขณะเดียวกันในพื้นที่ข้างเคียง เช่นศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง พระองค์พระราชทานพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทราย (หุบกะพง) ขึ้น ซึ่งจะมีการระบายน้ำหรือผันน้ำจากอ่างพวงต่าง ๆ เข้าไปยังอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ด้วย โดยผ่านอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด "ในการบริหารจัดการระบบน้ำของอ่างพวง จะประเมินการใช้น้ำของแต่ละอ่างไว้ ถ้าอ่างไหนมีน้ำน้อยหรือไม่เพียงพอ ก็จะร้องขอไปที่อ่างเก็บน้ำที่อยู่เหนือขึ้นไประบายน้ำลงมาช่วย โดยอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ทั้ง 5 แห่งนี้ ก็จะมีคณะกรรมการจัดการชลประทาน หรือ JMC คอยดูแลบริหารจัดการน้ำแต่ละแห่งคอยทำหน้าที่ และจะมีการประชุมในภาพรวม ตั้งแต่เหนือน้ำคืออ่างเก็บน้ำไทรงาม อ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย อ่างเก็บน้ำทุ่งขาม อ่างห้วยตะแปด อ่างเก็บน้ำห้วยทราย (หุบกะพง) เขากระปุก และอ่างเก็บน้ำห้วยทราย เพื่อวางแผนการใช้น้ำของแต่ละปี" นายกรณรมย์ วรรณกุล กล่าว
ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี สำนักงานชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ อ่างพวงที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้จัดทำขึ้นมานั้น ปัจจุบันแล้วเสร็จทั้งระบบสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งเพื่อการเกษตร การอุปโภคและบริโภคของราษฏรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ในช่วงหน้าฝนได้อีกด้วย
สำหรับการทำงานของอ่างพวงมีหลักการอยู่ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตอนบนสามารถปล่อยน้ำลงมาเติมอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดเล็กที่อยู่ตอนล่างได้ โดยการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำในแต่ละอ่างเก็บน้ำเข้าหากัน ทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ราษฎรสามารถมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดจนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้ตลอดทั้งปี และจากผลสำเร็จของอ่างพวงอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ ราษฎรในพื้นที่ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือให้มีความอยู่ดีกินดีที่มั่นคงต่างซาบซึ้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันจะทำให้ราษฏรเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน