กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จัดพิธี "ถวายขันดอกแม่ฟ้าหลวง" รังสรรค์ "ขันดอก" ศิลปะเพื่อการบูชาล้านนาสุดวิจิตร เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ "สมเด็จย่า" แม่ฟ้าหลวง ในวาระครบ 24 ปี แห่งการสวรรคต มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย จัด "พิธีถวายขันดอก แม่ฟ้าหลวง" เพื่อถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในวาระครบ 24 ปีแห่งการสวรรคตของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ "แม่ฟ้าหลวง" โดยมีหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชนร่วมถวายสักการะ ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2562 งานเริ่มขึ้นด้วยพิธีบำเพ็ญกุศลน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ ศาลาหน้าลานโคลเวอร์ ภายในอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จากนั้น ประจญ ปรัชญ์สกุล
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และ คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ประธานในพิธี ได้นำข้าราชการและประชาชน ตลอดจนเยาวชนที่ผ่านการพัฒนาจากโครงการในไร่แม่ฟ้าหลวง พร้อมใจกันจัดขบวนตุงและขันดอก (พุ่มดอกไม้อันเป็นเครื่องสักการะแบบล้านนา) ร่วมถวายสักการะและน้อมรำลึกถึง สมเด็จย่า ณ ลานหน้าพระรูปปั้นสำริดของพระองค์ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) จังหวัดเชียงราย
"สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" หรือ "สมเด็จย่า" ทรงประกอบพระราชกรณียกิจช่วยเหลือปวงชนชาวไทยมากมายหลายด้าน และจากการที่ทรงพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร และพระราชทานความช่วยเหลือโดยเสด็จด้วยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เหมือนเสด็จจากฟากฟ้ามาปัดเป่าทุกข์ให้ประชาชน ทำให้ชาวไทยภูเขาพร้อมใจกันกล่าวขานพระนาม "แม่ฟ้าหลวง" ด้วยความเคารพรักจวบจนพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538
ต่อมาทุกวันที่ 18 กรกฎาคมของทุกปี "มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์" จึงได้กำหนดจัด "ถวายขันดอกแม่ฟ้าหลวง" เป็นการถวายความเคารพอย่างสูงสุดตามประเพณีและความเชื่อแบบล้านนา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ "สมเด็จย่า" โดยจัดขึ้นที่ "อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง" ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระรูปปั้น "สมเด็จย่า" แล้ว สถานที่แห่งนี้ยังถูกพัฒนาจากการเป็นที่ดินหัวไร่ปลายนาธรรมดาผืนหนึ่งบริเวณชานเมืองของเชียงราย มีพื้นที่ 150 ไร่ มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานเริ่มต้นชีวิตใหม่ของชาวเขาไทย และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของเชียงราย โดยในอดีตเคยเป็นสำนักงานของมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยฯ (ชื่อเดิมของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ) และยังเป็นสถานที่ "ปลูกคน" โดยในระหว่างปี 2522 - 2528 สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ให้ความช่วยเหลือจัดทำโครงการผู้นำเยาวชนชาวเขา (Hill Tribe Youth Leadership) โดยสนับสนุนด้านสถานที่พักสำหรับเยาวชนชาวเขาจากถิ่นห่างไกลให้ได้รับการศึกษา ทั้งวิชาพื้นฐานจากโรงเรียนในเมืองและทักษะการใช้ชีวิต โดยนำเยาวชนเหล่านั้นมาอยู่ร่วมกันในลักษณะครอบครัว ช่วยกันทำงานปลูกผัก ทำอาหารด้วยกัน เพื่อฝึกการพึ่งพาตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานให้มีความเสียสละ ขยัน และเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมต่อชุมชนในอนาคต
"แม่ฟ้าหลวง" ไม่เคยมีพระกระแสรับสั่งให้ปฏิบัติเช่นใด แต่ทรงสอนด้วยวิธีอันแยบยลด้วยพระจริวัตรของพระองค์เอง การที่ทรงงานอยู่เสมอไม่หยุดหย่อน การที่ทรงมีพระเมตตาเผื่อแผ่ผู้ยากไร้ การที่ทรงประหยัดและการที่สนพระราชหฤทัยช่วยเหลือด้านการศึกษา สาธารณสุข คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม เป็นเข็มทิศชี้นำการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรม เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และร่วม
สืบสานพระราชปณิธาน ตลอดจนถวายเป็นพระราชกุศลแด่ "สมเด็จย่า" อาทิ การรับบริจาคโลหิต ณ บริเวณอาคารกองรักษาการณ์ถวายความปลอดภัย โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และ กิจกรรมฟื้นฟูและปรับสภาพป่า (ปลูกป่าเสริมพื้นที่ไฟไหม้ จำนวน 1,874 ไร่) ณ บริเวณบ้านแม่เปิน หมู่ที่ 13 โครงการพัฒนาดอยตุงฯ อีกด้วย