กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--วิเคราะห์ข่าว กองประชาสัมพันธ์
นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ระบุขณะนี้สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกจังหวัด จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องว่า กทม.มีมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก
โดยจัดกิจกรรมรณรงค์สัปดาห์ฆ่ายุงลาย ทุก 3 เดือน ทั่วพื้นที่ 50 เขตอย่างต่อเนื่อง และในปี 2562 ได้ดำเนินการตามแผนกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทุกสัปดาห์ ตลอดทั้งปี ด้วยการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือกับประชาชนจิตอาสาและเครือข่ายในพื้นที่ เช่น ทหาร ร้านค้า ผู้ประกอบการ โดยดำเนินการในชุมชน โรงเรียน วัด สถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมถึงคลินิกชุมชนอบอุ่นและสถานพยาบาลทุกสังกัด ให้ดูแลสภาพแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นสถานพยาบาลปลอดยุงลาย
นอกจากนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและผู้รับบริการในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกและร่วมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ขณะเดียวกันได้ประสานกับโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์และโรงพยาบาลทุกสังกัดใน กทม. ในการรับส่งข้อมูลผู้ป่วยไข้เลือดออก เพื่อสอบสวนโรคและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงร่วมกัน
ด้าน นายสมชาย จึงมีโชค ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสำนักการแพทย์ ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคภัยสุขภาพไปยังโรงพยาบาลสังกัดสำนัก
การแพทย์ ทั้ง 11 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลบางขุนเทียน โรงพยาบาลคลองสามวา และโรงพยาบาลบางนา รวมถึงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในแต่ละพื้นที่และควบคุมโรคในกรณีถ้ามีการระบาดของโรคติดต่อ หากพบว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยา สำนักการแพทย์จะส่งรายงานไปยังสำนักอนามัย เพื่อดำเนินการสอบสวนและเฝ้าระวังโรค พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้กับผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาลและประชาชนทั่วไป โดยประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของสำนักการแพทย์ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพอีกด้วย