กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
สตง. หวั่นปัญหาการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 ของประเทศไทย ภายหลังเข้าตรวจสอบการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) พบการแปลงแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดให้เน้นการบูรณาการ ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งการปรับปรุงแผนฯ มีความล่าช้าจนอาจส่งผลต่อการขับเคลื่อนแผนฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ล่าสุดมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ หน่วยงานที่กำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. แล้ว
ทั้งนี้ จากรายงานของ United Nations World Population Ageing ที่คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งส่งผลต่อสภาพสังคม สภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงาน ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรทางสุขภาพและสังคมของประเทศในระยะยาว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานของสังคมและเตรียมความพร้อมรองรับเพื่อให้เกิดผลกระทบ น้อยที่สุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จึงได้เข้าตรวจสอบการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขจำเป็นของแผนฯ โดยให้ความสำคัญกับการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเน้นการบูรณาการการทำงานจาก ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า แผนผู้สูงอายุแห่งชาติดังกล่าวยังขาดแผนปฏิบัติการในภาพรวมที่มีการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ครอบคลุมแผนงาน/งาน/โครงการ และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ มาตรการ และดัชนีชี้วัดของแผน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการแปลงแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยแม้ว่าจะมีการจัดประชุม สัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและพร้อมเข้าร่วมในการผลักดัน แผนผู้สูงอายุแห่งชาติสู่การนำไปปฏิบัติ แต่จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพบว่าหน่วยงานต่าง ๆ ยังไม่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ตลอดจนแนวทางในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ที่มีความเข้าใจว่าการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุเป็นการดำเนินงานตามภารกิจประจำตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการ โดยไม่ได้พิจารณาว่าการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติหรือไม่ ขณะเดียวกัน ในส่วนที่มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action plan) ระดับจังหวัดเพื่อรองรับ แผนผู้สูงอายุแห่งชาตินั้นก็พบว่า มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพียงบางจังหวัดเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่ามีจังหวัดใดบ้าง เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีการรายงานกลับมายังหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก และที่จัดส่งมาบางส่วน หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักก็ยังไม่มีการเก็บรวบรวมเอกสารอย่างเป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบ ข้อมูลได้ สำหรับหน่วยงานในระดับส่วนกลาง เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ แต่เจ้าหน้าที่อื่นไม่ทราบข้อมูลดังกล่าว
"การแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติโดยที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของแผนดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฯ รวมทั้งขาดรายละเอียดระดับแผนงาน/งาน/โครงการเพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผล ซึ่งย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการวัดผลสัมฤทธิ์ของแผน เนื่องจาก ไม่มีแผนปฏิบัติการในภาพรวมเพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ" ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่าการปรับปรุงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) มีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามที่กำหนด กล่าวคือ จนปัจจุบันมีการปรับปรุงแผนฯ เพียง 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วควรจะต้องได้รับการปรับแผนฯ รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง เนื่องจากแผนผู้สูงอายุดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขให้มีการพิจารณาและปรับปรุงแผนเป็นระยะ ๆ ไม่เกินทุก 5 ปี ซึ่งกระบวนการปรับปรุงแผนที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนด ส่งผลทำให้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติขาดความเป็นปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่นำแผนฯ มาแปลงสู่การปฏิบัติ ด้วยเห็นว่ามาตรการและเป้าหมายตามแผนที่กำหนดไม่ทันกับสถานการณ์และ ความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อการขับเคลื่อนแผนฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
จากผลการตรวจสอบข้างต้น สตง. จึงได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบพร้อมข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ หน่วยงานที่กำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. แล้วแจ้งให้ สตง. ทราบภายใน 60 วัน อาทิ เร่งผลักดันให้การดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกหน่วยงานตระหนักถึงความสำคัญและเกิดการบูรณาการในการแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมและครอบคลุมแต่ละมาตรการตามยุทธศาสตร์ของแผนฯ แล้วดำเนินการซักซ้อมทำความเข้าใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง หรือจัดทำเป็นคู่มือการขับเคลื่อนแผนผู้สูงอายุแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างการรับรู้ และเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในภาพรวมเพื่อรองรับการดำเนินการในแต่ละมาตรการตามยุทธศาสตร์ของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยจะต้องเน้นแผนงาน/งาน/โครงการที่มีประเด็นสำคัญซึ่งส่งผลต่อระดับความสำเร็จของแผน (Flagship) เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการและเป็นประโยชน์ต่อการติดตามประเมินผล ตลอดจนถึงการพิจารณากำหนดแผนการดำเนินการในการปรับปรุงแผนและกรอบระยะเวลาในการดำเนินการของแต่ละขั้นตอน เพื่อให้การปรับแผนสามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งแจ้งเวียนและกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และรวบรวมปัญหาอุปสรรคเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขต่อไป