กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--ไทยออยล์
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53 – 57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 59 - 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2562
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (22 – 26 ก.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง จากแรงหนุนของเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างอิหร่านกับอังกฤษที่ยังคงยืดเยื้อ หลังเกิดเหตุเรือสัญชาติอิหร่านเข้ายึดเรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติอังกฤษบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ นอกจากนี้ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ยังสร้างความกังวลต่อตลาด หลังประเทศอิหร่านเริ่มเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมมากขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันเนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังบริษัทผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ได้เริ่มดำเนินการผลิตอีกครั้ง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ตลาดน้ำมันดิบคาดได้รับแรงหนุนจากความไม่สงบในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านกับอังกฤษ หลังเรือติดอาวุธสัญชาติอิหร่านได้เข้ายึดเรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่งของอังกฤษในบริเวณช่องแคบฮอร์มุซเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 62 โดยก่อนหน้านี้ทางการอิหร่านออกมาขู่ว่าจะยึดเรือบรรทุกน้ำมันอังกฤษเป็นการตอบโต้ หากรัฐบาลอังกฤษไม่ยอมคืนเรือ Grace1 ซึ่งเป็นบรรทุกน้ำมันอิหร่านที่ถูกอังกฤษยึดไปบริเวณช่องแคบยิบรอลตาร์ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 62 โดยอังกฤษระบุว่าเรือดังกล่าวกำลังมุ่งหน้าไปซีเรีย ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ อังกฤษส่งเรือรบ HMS Duncan ซึ่งเป็นลำที่ 2 เข้าไปในอ่าวเปอร์เซีย เพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันเหตุการณ์ความไม่สงบในบริเวณนั้น
ตลาดจับตาเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน หลังรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า อิหร่านพร้อมที่จะเจรจาเกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่อิหร่าน กล่าวว่าพร้อมจะจัดการเจรจากับสหรัฐฯ ถ้าหากสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน อย่างไรก็ตาม อิหร่านเริ่มเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมมากขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี 2558 ที่ระบุให้อิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมได้ไม่เกินร้อยละ 3.67 การเพิ่มยูเรเนียมเสริมสมรรถนะเช่นนี้อาจจะทำให้อิหร่านมีวัตถุดิบในการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้เร็วขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านย่ำแย่ลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากการกล่าวโทษกันเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบใกล้กับบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ และการที่สหรัฐฯ ยังคงคว่ำบาตรอิหร่านอย่างต่อเนื่อง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังบริษัทผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ได้เริ่มดำเนินการผลิตอีกครั้ง หลังคลายความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของพายุโซนร้อนแบร์รี โดยผลกระทบของพายุโซนร้อนแบร์รีส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ค. 62 ปรับตัวลดลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 3.1 ล้านบาร์เรล
ความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยืดเยื้อ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนในไตรมาส 2/2562 ขยายตัวร้อยละ 6.2 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 27 ปี และชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่มีการขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ผลิตโดยกลุ่มโอเปก 14 ประเทศในปี 2563 อยู่ที่ราว 29.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในปี 2562 ที่กลุ่มโอเปกคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ราว 30.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเดือน ก.ค. ของยูโรโซน ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ เดือน ก.ค. ของสหรัฐฯ การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยยูโรโซนของธนาคารกลางยุโรป และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐฯ ไตรมาส 2/2562
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 – 19 ก.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 4.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 61.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบถูกกดดันจากการที่บริษัทขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง หลังจากมีการอพยพคนงานออกจากแท่นขุดเจาะกว่า 280 แท่น เนื่องจากผลกระทบของพายุโซนร้อนแบร์รี นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวในไตรมาส 2 ต่ำสุดในรอบ 27 ปี สร้างความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง 3.1 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า