กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--ซีพีเอฟ
ปศุสัตว์จังหวัดหนองคาย และบมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จัดอบรมเรื่อง "เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร" แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย(น้อยกว่า 50 ตัว) ในพื้นที่ จ.หนองคาย กว่า 280 คน โดยมีนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกับ นายวิบูลย์ เลิศวัฒนาสมบัติ ปศุสัตว์จังหวัดหนองคาย น.สพ.คุณวุฒิ เครือลอย รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) และนักวิชาการ ร่วมให้ความรู้แก่เกษตรกรร่วมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทั้งนี้ ซีพีเอฟร่วมสนับสนุนเร่งจัดอบรมผู้เลี้ยงหมูรายย่อยให้ครบทุกจังหวัดของภาคอีสาน เพื่อลดความเสี่ยงและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการป้องกันโรคระบาดเข้ามาในประเทศ
นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า จังหวัดหนองคายมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านจึงให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเกษตรกรรายย่อยให้มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรคระบาดนี้อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันความเสียหายที่มีต่อพี่น้องเกษตรกรรวมถึงภาคเกษตรต่อเนื่องที่มีมูลค่ามหาศาลหากเกิดโรคระบาดขึ้นจริง
นายวิบูลย์ เลิศวัฒนาสมบัติ ปศุสัตว์จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ให้ความสำคัญกับ ฟาร์มเลี้ยงหมูรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟาร์มแบบเปิด มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย และหนองคายมีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกว่า 300 ฟาร์ม ในพื้นที่ 9 อำเภอ มีจำนวนหมูกว่า 5,000 ตัว ปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกับ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จัดอบรมให้ความรู้และเตรียมความพร้อมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ปรับระบบการเลี้ยงให้มีระบบป้องกันโรคที่ดี รู้วิธีสังเกตอาการของโรค วิธีปฎิบัติที่ถูกต้อง รวมถึงมาตรการเยียวยา ซึ่งเป็นอีกมาตรการในการสร้างปราการป้องกันโรคให้แข็งแกร่ง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจาก บจ.ซีวา แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) ในการใช้ชุดตรวจโรค อีกด้วย
"ขณะนี้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรค ASF ดังกล่าว ขอให้เกษตรกรและประชาชนมั่นใจในการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดของปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรกร" ปศุสัตว์หนองคายกล่าว
นอกจากนี้ หากเกษตรกรพบสุกรแสดงอาการป่วย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ Call Center ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (War Room) ทุกจังหวัด กรมปศุสัตว์ DLD 4.0 "แจ้งการเกิดโรคระบาด" เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
ด้าน น.สพ.คุณวุฒิ เครือลอย รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทฯ มีความห่วงใยผู้เลี้ยงหมูรายย่อยทั่วประเทศ และถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ดังนั้น ความร่วมมือจัดการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วภาคอีสานในครั้งนี้ บริษัทฯได้นำสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจและสามารถปรับปรุงระบบป้องกันโรคในฟาร์มตนเอง เช่น การห้ามนำเศษอาหารเหลือจากการบริโภคมาให้หมูกิน การล้างทำความสะอาดฟาร์มและอุปกรณ์ด้วยยาฆ่าเชื้อ การใส่รองเท้าบู๊ทในฟาร์ม การพ่นยาฆ่าเชื้อยานพาหนะที่ขนส่งหมูและอาหารสัตว์ การเข้มงวดห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาในฟาร์ม เป็นต้น
อนึ่ง ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด ในการติดตามสถานการณ์การระบาดและเตรียมแผนรับมือมาล่วงหน้าแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ สามารถดำเนินการป้องกันได้ตามแผนที่วางไว้ทันที พร้อมร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จัดสร้างศูนย์พ่นยาฆ่าเชื้อยานพาหนะที่ด่านชายแดน 2 แห่ง ที่เชียงรายและมุกดาหาร ด้วยงบ 4,000,000 บาท พร้อมจัดอบรมให้ความรู้เรื่องโรค ASF แก่เกษตรกรรายย่อยทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดอบรมผู้เลี้ยงหมูรายย่อยไปแล้ว 9 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ มหาสารคาม สุรินทร์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา มุกดาหาร หนองคาย และกาฬสินธุ์ และร่วมกับปศุสัตว์อำเภอลงพื้นที่ให้ความรู้ มอบยาฆ่าเชื้อ รวมถึงการมอบสื่อความรู้ในการป้องกันโรค ASF ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยสามารถเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมในการป้องกันโรค ASFได้