กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--เครือเจริญโภคภัณฑ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน Grooming Next-Generation Leaders : University – Industry Partnership ครั้งที่ 1 / ม.ธรรมศาสตร์ – เครือเจริญโภคภัณฑ์ Defining the Future : กำลังคนในศตวรรษที่ 21 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในโอกาสครบรอบปีที่ 85 เรามุ่งมั่นพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ สร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อสังคมไทยและนานาชาติ หรือ Grooming Next-Generation Leaders for Thailand and International Communities ด้วยการผสานความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตทุกคณะ ทุกสาขาวิชาให้มีคุณภาพ มีทักษะเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงาน เป็นกำลังคนในศตวรรษที่ 21 ร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่เป็นบริษัทชั้นนำ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโครงการยกระดับศักยภาพนักศึกษาร่วมกับภาคเอกชนหลายแห่ง และหนึ่งในนั้นคือความร่วมมือกับ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด สนับสนุนให้นักศึกษาไปฝึกปฏิบัติงานจริงในประเทศจีนจำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี นักศึกษาสามารถต่อยอดความรู้ไปสู่การปฏิบัติในบริษัทชั้นนำระดับนานาชาติ เป็นทักษะเพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่โลกของการทำงานในอนาคต
ในส่วนของคณะศิลปศาสตร์ ได้มีโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับ มหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งนครเซี่ยงไฮ้ (SISU) มาเป็นเวลา 20 ปี ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ให้นักศึกษาไปฝึกงานที่โรงงาน Zhanjiang DENI Vehicle Parts Co.,Ltd. เมืองจ้านเจียง ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ในปี 2560-2561 ต่อเนื่องจนถึงปี 2562 ได้ฝึกงานที่โรงงาน Luoyang Northern EK Chor Motorcycle Co.,Ltd. ณ เมืองลั่วหยาง
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งสร้างบัณฑิตที่เป็น GREATS คือมีทักษะผู้ประกอบการ ทักษะภาษา และความเป็นนานาชาติ จึงต้องขอขอบคุณ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) อย่างมากที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนโครงการนี้อย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบันมีนักศึกษาร่วมโครงการกว่า 30 คน"
นายธนากร เสรีบุรี รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี กล่าวว่า เครือซีพีเป็นกลุ่มบริษัทของไทยที่สนับสนุนการพัฒนาภาคการศึกษามาโดยตลอด รวมถึงการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้ามาฝึกทดลองการปฏิบัติงานกับบริษัทต่างๆ ในเครือฯ เนื่องจากเครือซีพีมีการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและทั่วโลกรวม 21 ประเทศ ครอบคลุมถึง 8 สายธุรกิจ ได้แก่ เกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ค้าปลีก สื่อสารและโทรคมนาคม
อีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัล อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์และอุตสาหกรรม ยาและเวชภัณฑ์ และธุรกิจการเงินและการธนาคาร นอกจากนี้เครือซีพีกำลังปรับเปลี่ยนหรือ Transform สู่ยุค 4.0 จึงพร้อมเป็นเวที (Platform) ให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติงานจริง เพื่อเตรียมความพร้อมให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุค 4.0
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้เปิดรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าฝึกงานกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ในต่างประเทศมาแล้วรวม 3 รุ่น โดยเริ่มที่ประเทศจีน ซึ่งเครือซีพีเป็นบริษัทข้ามชาติแห่งแรกที่เข้าไปลงทุนในจีน จนถึงปัจจุบันมีธุรกิจหลากหลายทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรมทั่วไป ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และการเงิน ฯลฯ นอกจากนี้จีนยังเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของเอเชีย มีพัฒนาการและเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด จึงเหมาะกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เยาวชนไทยได้ฝึกปฏิบัติงานจริง และจะได้ทักษะทั้งด้านภาษา สังคมวัฒนธรรม และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในหลายๆ ด้าน
นักศึกษา 2 รุ่นแรกได้เข้าฝึกงานที่เมืองจ้านเจียง ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ภาคใต้ของประเทศจีน เป็นเมืองที่โดดเด่นในเรื่องการเกษตร ประมง และพาณิชย์ โดยนักศึกษาได้ฝึกงานที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยายนต์ ส่วนนักศึกษารุ่นที่ 3 ได้ฝึกกับธุรกิจของเครือซีพีที่เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน เป็นเมืองที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีนักท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่า 120 ล้านคน นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของจีน โดยซีพีมีธุรกิจค้าปลีก คือ ศูนย์การค้าปลีกซุปเปอร์แบรนด์มอลล์การพาณิชย์ ที่มีพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร โรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ต้าหยาง รวมถึงโรงงานแปรรูปอาหาร ฯลฯ ซึ่งนักศึกษาได้เข้าฝึกงานที่โรงงานผลิตรถจักรยานยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่านักศึกษาจะได้รับประโยชน์จากการฝึกงานกับซีพีในจีน
น.ส.จิตตราพร จันทร์พันธ์ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้นปีที่ 4 มีโอกาสร่วมคณะไปฝึกงานที่ Luoyang Northern EK Chor Mo-torcycle Co.,Ltd. ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เป็นเวลา 1 เดือน กล่าวถึงประสบการณ์ครั้งนี้ว่า ส่วนตัวสนใจเกี่ยวกับการเติบโตของประเทศจีนอยู่แล้ว เมื่อโครงการเปิดโอกาสจึงสมัครทันทีและเมื่อได้สัมผัสระบบการทำงานที่ประเทศจีนจริงๆ รู้สึกว่าได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะบริษัทส่งเสริมให้เราเรียนรู้และลงมือทำจริงๆ โดยในช่วงแรกได้ไปฝึกงานในสายการผลิตของทุกโรงงานจากนั้นจึงเลือกการฝึกได้ใน 3 แผนก คือการตลาด, การวิจัยและพัฒนาและการวางแผนการผลิต
"โครงการนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนกว้างมาก เปรียบเสมือนสนามแห่งการเรียนรู้เพื่อฝึกฝนอย่างมีอิสระ ขณะที่ผู้ใหญ่คอยสนับสนุนแนะนำและดูแลเราอยู่ตลอด การได้ลงมือปฏิบัติจริงทุกด้าน ไม่ว่าจะในสายการผลิต การประกอบชิ้นส่วน ไปจนถึงเตรียมการส่งออก เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องกระบวนการต่างๆ ไปจนถึงเรียนรู้วัฒนธรรมชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีน นับว่าได้ประโยชน์และมีคุณค่าเหมาะสำหรับนักศึกษารุ่นต่อๆ ไป"