กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--รพ.ราชวิถี
มะเร็งในผู้หญิงในปัจจุบันนี้ นับว่ามีความน่าห่วงเพิ่มมากขึ้น จากการใช้ชีวิตและด้วยสภาพแวดล้อมสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิง คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ และมะเร็งที่ถือได้ว่าเป็นมะเร็งที่น่าห่วงมากที่สุดในผู้หญิงสมัยนี้นั้นก็คือ มะเร็งปากมดลูก จากตัวเลขที่มีเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และพบผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ซึ่งมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ และสามารถตรวจคัดกรองหาความผิดปกติได้ก่อน
ปัจจุบันสถานการณ์มะเร็งในหญิงไทยมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่โชคดีที่เราสามารถมีวิธีการสืบค้นได้มากขึ้น มีการตรวจพบในระยะต้นๆได้มากขึ้น และพบได้กับคนไข้ในกลุ่มที่อายุน้อยมากขึ้น มะเร็งในผู้หญิงเรา มีมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม
มักพบในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบได้ในคนที่มีอายุน้อย ๆ เช่น 20 ปี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีคู่นอนหรือมีสามีหลายคน หรือมีสามีที่มีความสำส่อนทางเพศ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
จากข้อมูลจากสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ปี 2560 ระบุว่าในแต่ละปีจะพบว่าสตรีไทยป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ 5,513 ราย และหากลงลึกไปอีกจะพบว่าในแต่ละวันจะมีสตรีป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มถึง 15 ราย และแต่ละปีจะมีสตรีไทยเสียชีวิตเพราะมะเร็งปากมดลูกถึง 2,251 ราย หรือเฉลี่ยจะมีสตรีไทยเสียชีวิตเพราะมะเร็งปากมดลูกวันละ 6 ราย ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ถึง 8,184 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก
ทั้งนี้ สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เป็นมะเร็งปากมดลูก โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้จะติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุในอวัยวะสืบพันธุ์ จึงทำให้เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปอยู่ที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของปากมดลูก จนกลายเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่ออักเสบเรื้อรัง (ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก)
และเป็นมะเร็งในที่สุด
การรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และการฉายแสง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และชนิดของเซลที่ทำให้เกิดโรค หากเป็นในระยะเริ่มต้นส่วนใหญ่จะรักษาด้วยการผ่าตัด หากเป็น ระยะ 2 และ 3 ขึ้นไป การรักษาเป็นการฉายแสงและหรือ ร่วมกับยาเคมีบำบัด โดยการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 มีการประยุกต์เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องที่ทั่วโลกใช้มานาน เป็นการผ่าตัดแบบไร้แผลให้ผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช แทนการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องหรือส่องกล้องทางหน้าท้องที่ต้องตัดมดลูกออก โดยการสอดกล้องเข้าไปทางช่องคลอดแล้วใช้วิธีการที่พัฒนาขึ้นในการแยกปากมดลูกและท่อปัสสาวะได้ชัดเจน ก่อนจะตัดปากมดลูกที่เป็นมะเร็งออก ทำให้สามารถรักษามดลูกของผู้ป่วยไว้ได้ ซึ่งผู้ป่วยเป็นมะเร็งส่วนใหญ่มักสิ้นหวังกับการมีชีวิต คิดว่าเป็นมะเร็งแล้วจะต้องตายแน่ๆ แต่จริงๆ แล้ว มะเร็งยิ่งรักษาเร็วยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตสูง และกำลังใจของผู้ป่วยนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
และการป้องกันตัวเองจากมะเร็งปากมดลูก สำหรับผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกภายใน 3 ปีหลังการมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เว้นแต่กับผู้ชายที่จะให้เป็นพ่อของลูก และหากยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์อาจเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไปโดยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap test) ร่วมกับการตรวจหาเชื้อ HPV ส่วนผู้หญิงที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ที่มีอายุตั้งแต่ 9 - 26 ปีควรฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับต่อต้านเชื้อ HPV ก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
โดยปีที่ผ่านมา(2561) รพ.ราชวิถีมีผู้ป่วยด้านมะเร็งนรีเวช จำนวน 639 คน อาทิ มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูกและมะเร็งนรีเวชอื่นๆ เป็นต้น และปัจจุบันยังมีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รอรับการรักษา ทั้งด้วยการผ่าตัดการให้ยาเคมีบำบัด หากเขาเหล่านั้นได้รับการรักษาเร็วโอกาสที่จะหายและสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติมากขึ้นจากการที่ รพ.ราชวิถี มีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รอรับการรักษาอยู่จำนวนมากนั้น เนื่องจากรพ.เป็นศูนย์รับส่งต่อที่ใหญ่ที่สุดของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงมีการรอคิวในการรักษาที่ค่อนข้างยาวและผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ยากไร้ มีฐานะยากจน ดังนั้นทางรพ.ราชวิถีและมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี จึงได้จัดตั้ง "กองทุนพิชิตมะเร็ง มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี" เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ให้ได้มีโอกาสรับการรักษาและสามารถกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว
ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน สามารถร่วมบริจาคได้ที่บัญชี "มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี" หมายเลขบัญชี 0512163221 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หรือ สอบถามโทร 02-3547997-9หรือ www.rajavithifondation.com มาร่วมต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยที่รอโอกาสทางการรักษา