กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--สถาบันการบินพลเรือน
ที่โรงแรม เลอ เมอริเดียน ภูเก็ต บีช รีสอร์ท นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุม THE THIRD ICAO GLOBAL AVIATION COOPERATION SYMPOSIUM (GACS/3) ครั้งที่ 3 เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินได้ร่วมอภิปรายประเด็นความท้าท้ายที่สำคัญของ การบินในอนาคตอันใกล้ การพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาและวิธิปฏิบัติที่เป็นเลิศ (BEST PRACTICE) ในการเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการบินการส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของโครงการความร่วมมือทางเทคนิค ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL CIVIL AVIATION ORGANIZATION: ICAO) การเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความร่วมมือกันระหว่าง ICAO ประเทศสมาชิก หน่วยงานองค์กรด้านการบิน อุตสาหกรรมการบินในทุกระดับ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ทั้งนี้ยังเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ สอบถาม และแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของแต่ละประเทศ โดยมี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และMR. OLUMUYIWA BERNARD ALIU ประธานคณะมนตรีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ตลอดจนประเทศสมาชิกของ ICAO จาก 193 ประเทศทั่วโลกร่วมงานกว่า 400 คน
ในโอกาสนี้ พลเรือตรีปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน คณะผู้บริหาร และคณาจารย์ จาก สบพ. ได้เข้าร่วมประชุมและได้ร่วมหารือการทำความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องในการผลิตและพัฒนาบุคลากรการบิน โดยการประชุมครั้งนี้ สำนักความร่วมมือทางวิชาการ (TECHNICAL COOPERATION BUREAU: TCB) ของ ICAO ได้ร่วมมือกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และสำนักงานสาขาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ICAO APAC) โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ"ICAO: BRIDGING THE SARPS COMPLIANCE GAP WITH QUALITY AND EFFICIENCY" ภายในงานประกอบด้วยการอภิปราย เสวนา และการนำเสนอจากผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค ในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการบิน พลเรือน ทั้งในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างการบินพื้นฐาน การลดช่องว่างในการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติผู้เชี่ยวชาญจะสามารถเสริมสร้างขีดความสามารถได้อย่างไร การสนับสนุนการอบรมในการเติบโตด้านการบิน ความร่วมมือทางเทคนิคระดับภูมิภาค และวิสัยทัศน์การบินในอนาคต
สำหรับเป้าประสงค์ของการประชุม คือการลด "ช่องว่าง" ในการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติ(STANDARDS AND RECOMMENDED PRACTICES: SARPS) โดยสะท้อนให้เห็นถึงสถานะการบินในปัจจุบัน รวมถึงความท้าทายในอนาคตอันใกล้ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับแนวทางจากการอภิปรายเพื่อลดช่องว่างในการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติ(SARPS)เพื่อร่วมกันพัฒนาและรักษาระบบการบินให้มีความยั่งยืนและปลอดภัยกำหนดแนวทางการพัฒนาศักยภาพผ่านโครงการความร่วมมือและการช่วยเหลือทางเทคนิคซึ่งผู้แทนของ แต่ละประเทศได้มีโอกาสพิจารณาและแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาต่างๆ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ผ่านการนำเสนอผลการดำเนินโครงการความร่วมมือและการช่วยเหลือทางเทคนิคต่างๆ ของ ICAO
พร้อมอภิปรายแนวทางการแก้ไขสำคัญร่วมกันในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรม และการเสริมสร้างศักยภาพ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืนและปลอดภัยส่งเสริมโครงการความร่วมมือทางเทคนิคของ ICAO เพื่อให้ประเทศสมาชิกบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้โดยได้นำเสนอภาพรวมของบริการและ การดำเนินงานภายใต้โครงการความร่วมมือทางเทคนิคของ ICAO เพื่อช่วยส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกและองค์กรระดับภูมิภาคต่างๆ สามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการละเมิดหรือความบกพร่องในการดำเนินการ ตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกและระหว่างองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในอุตสาหกรรมการบินเพราะเป็นการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญ ประเทศสมาชิก ผู้ให้บริการ และองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ อุตสาหกรรม และ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านความร่วมมือทางเทคนิค