กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
พบคนรุ่นใหม่เรียนวิศวกรรมน้อยลง ไทยมีแนวโน้มผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรเพียงร้อยละ 5 เสี่ยงเป็นอาชีพขาดแคลน สภาวิศวกร ชี้ ถึงเวลาปฏิรูปโครงสร้างอย่างเร่งด่วน
สภาวิศวกร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย
เปิดเวทีปฏิรูปวิศวกรไทยเพื่อรับฟังความคิดเห็นและร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการยกระดับวิศวกรรมไทย ในการกำหนดเส้นทางใหม่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและก้าวทันในยุคดิสรัปชั่น เติมเต็มห่วงโซ่ด้านวิศวกรรมที่พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดยุทธศาสตร์ของสภาวิศวกรกับก้าวต่อไปของวิศวกรไทยในปี 2020 รองรับแนวโน้มคนรุ่นใหม่เรียนด้านวิศวกรรมน้อยลง เสี่ยงเป็นอาชีพขาดแคลนในอนาคต ซึ่งสวนทางกับความต้องการของประเทศ
ทั้งนี้ สภาวิศวกรได้จัดงานเสวนา "การปฏิรูปวิศวกรไทย" จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องเจ้าพระยาบอลรูม ชั้น 2 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสภาวิศวกร ได้ที่เว็บไซต์ www.coe.or.th และสายด่วน 1303
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกร ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนด
ทิศทางการพัฒนาศักยภาพด้านวิศวกรรมของไทยอย่างมีส่วนร่วม จึงได้จัดการประชุม "การปฏิรูปวิศวกรไทย" ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางการพลิกโฉมวิศวกรรมไทยในยุคดิสรัปชั่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวของด้านวิศวกรรมระดับท๊อปประเทศ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการปฏิรูปวิศวกรไทย ภายใต้แนวคิด ยกระดับวิศวกรไทยสู่สากลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิรูปวิศวกรไทย ร่วมกับหน่วยงานด้านวิศวกรรมระดับประเทศ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสภาวิศวกรสมัยที่ 7 โดยยึดหลักสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพในปัจจุบัน
ซึ่งมีวิศวกรที่ขึ้นทะเบียนกับสภาวิศวกรอยู่ประมาณ 300,000 คน ให้มีความพร้อมสำหรับการพัฒนาในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานวิศวกรให้มีความรับผิดชอบ และมีบทบาทการเป็นที่พึ่งของสังคม
ในเวลาที่เหมาะสม คุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะ ส่งเสริมการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ไม่ให้เกิดภยันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจอาชีพวิศวกรในอนาคตอีกด้วย
"ปัจจุบันวิศวกรยังคงเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย จากปัจจัยด้านความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว อาคารถล่ม อุทกภัย ภัยแล้ง เป็นต้น รวมถึงความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิสรัปชั่น ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์น้อยลงอยู่ที่ 33,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้มีผู้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประมาณ 7,000 คนต่อปี ซึ่งอาจมีเพียงบางส่วนที่ประกอบอาชีพวิศวกร และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ ไทยจะมีสัดส่วนของเป็นวิศวกรเพียงร้อยละ 5 ของประชากรทั้งประเทศ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สภาวิศวกรจึงต้องเร่งปฏิรูปด้านวิศวกรรมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนในอนาคต ซึ่งการจัดการประชุมปฏิรูปวิศวกรไทยจึงเป็นโอกาสในการปฏิรูปให้วิชาชีพวิศวกร และเป็นอาชีพที่เป็นเสาหลักของประเทศได้"
นอกจากนี้ สภาวิศวกรยังคงตระหนักถึงบทบาทและภารกิจหลักในฐานะสภาวิชาชีพที่มีความสำคัญระดับประเทศ ซึ่งต้องสามารถดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม สนับสนุนการศึกษาและวิจัย การให้ความรู้กับประชาชนซึ่งมีส่วนสำคัญ
ในการยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงต้องเพิ่มบทบาทในการให้คำปรึกษาและแนะนำกับรัฐบาล เพื่อร่วมกันออกแบบแผนการดำเนินงานที่จะส่งผลต่อการพัฒนาและแก้ปัญหาสำคัญระดับประเทศ ตามเทรนด์ด้านวิศวกรรมของโลก อาทิ นวัตกรรมด้านการแพทย์สาธารณสุข พลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานสะอาดลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันประเทศ การเติบโตของอุตสาหกรรมอีสปอร์ต เทคโนโลยีด้านอากาศยาน การพัฒนาหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์
ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า วิศวกรรมการเงิน และสมาร์ทฟาร์ม
ขณะที่ นายสมัย ลี้สกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อ
ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรในปัจจุบัน คือ ต้องมีความสามารถในการประยุกต์ใช้พื้นฐานด้านวิศวกรรมเพื่อต่อยอดในการทำงานด้านต่างๆ ที่เป็นเทรนด์ตามความต้องการของโลกได้ สิ่งที่สำคัญคือวิศวกรรุ่นใหม่ต้องเก่งรอบด้าน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขณะเดียวกันต้องผสมผสานองค์ความรู้ด้านศิลปศาสตร์ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้และตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในที่สุด
ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เก่งทั้งวิทย์และศิลป์ อีกทั้งยังต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรอยู่แล้ว รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะปรับตัวสู่ความท้าทายได้ในอนาคต พร้อมแนะให้สภาวิศวกรจับมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อใช้องค์ความรู้ความเชี่ยวชาญของแต่ละสถาบัน นำมาสู่การใช้งานจริง และยังเป็นการส่งเสริมให้
คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงบทบาทการทำงานเพื่อสังคมได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ภายหลังจากการประชุมการปฏิรูปวิศวกรไทย สภาวิศวกรจะนำความคิดเห็นที่ได้จากผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณายกร่างแผนแม่บทก้าวต่อไปของวิศวกรไทยในปี 2020 อย่างรอบด้าน ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกร โดยมุ่งเน้นกลุ่มไปยังเป้าหมายของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา ตลอดจนผู้ที่สำเร็จการศึกษาและก้าวสู่วิชาชีพวิศวกรที่มีทักษะความรู้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง ควบคู่กับการให้ความสำคัญ
ด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการประกอบวิชาชีพวิศวกรไทย และ
เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสภาวิศวกร ได้ที่เว็บไซต์ www.coe.or.th และสายด่วน 1303