กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- สถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาลในปี 2562 (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2562) ได้ส่งผลกระทบต่อความแห้งแล้งเป็นอย่างมาก จากอิทธิพลของเอลนีโญกำลังอ่อนที่ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและมีภาวะฝนน้อยน้ำน้อย พิจารณาได้จากปริมาณน้ำในเขื่อนที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อความเสียหายของผลผลิตพืชเกษตรหลักอย่างข้าวนาปีที่ได้ปลูกไปแล้ว ทำให้ราคาข้าวนาปีเฉลี่ยขยับขึ้นได้ในช่วงนี้ ส่งผลต่อภาพรวมราคาข้าวนาปีเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 (YoY) อย่างไรก็ตาม ด้วยความเสียหายของผลผลิตข้าวนาปีที่ลดลง จึงยังเป็นแรงกดดันต่อภาพรวมรายได้เกษตรกร
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบจากภัยแล้งนอกฤดูกาลในครั้งนี้ (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2562) คาดว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปีเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นราวร้อยละ 0.1 ของ GDP นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาลที่อาจลากยาวได้อีกในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2562 ที่อาจกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ซึ่งอาจส่งผลต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก
แม้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่โดยภาพรวมแล้วปริมาณน้ำฝนก็ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน (Weak El Nino) ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งประเทศยังคงสูงกว่าค่าปกติราว 1-2 องศาเซลเซียส และทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงราว 2 เดือนในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 นับเป็นสถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาล (ภัยแล้งช่วงหน้าฝน) ส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 10 และทำให้ระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำ พิจารณาได้จากปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนของไทยแยกตามรายภาค ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2562 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้งประเทศลดลงร้อยละ 48.5 (YoY) โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ในขั้นวิกฤติ กระทบต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูดังกล่าว จะเป็นภาวะแห้งแล้งเช่นนี้ที่มีฝนทิ้งช่วงและภาวะฝนน้อยน้ำน้อยไปจนถึงสิ้นปี 2562[1] อีกด้วย
ดังนั้น จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ภัยแล้งนอกฤดูกาลครั้งนี้ที่ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและภาวะฝนน้อยน้ำน้อยในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2562 ได้ส่งผลกระทบต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และยิ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้เกษตรกรให้แย่ลงไปอีก ดังนี้
- ข้าวนาปี เป็นพืชเกษตรที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากปัญหาภัยแล้งที่ยืดเยื้อยาวนานในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2562 เนื่องจากตรงกับฤดูกาลเพาะปลูก อีกทั้งผลผลิตข้าวนาปีส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็นสัดส่วนผลผลิตร้อยละ 46.4 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งประเทศ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่นอกเขตชลประทานมากถึงร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกข้าวนาปีทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงต้องอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งภัยแล้งในช่วงนอกฤดูกาลดังกล่าวนี้ ทำให้ราคาข้าวนาปีเฉลี่ยขยับขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมราคาข้าวนาปีเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 (YoY) อย่างไรก็ตาม ด้วยความเสียหายของผลผลิตข้าวนาปีที่ลดลง จึงยังเป็นแรงกดดันต่อภาพรวมรายได้เกษตรกร
- ผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจในช่วงภัยแล้งนอกฤดูกาล (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2562) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจไม่ต่ำกว่ำ 15,000 ล้านบาท[2] ซึ่งเป็นการประเมินความเสียหายของข้าวนาปีเป็นหลัก หรือคิดเป็นราวร้อยละ 0.1 ของ GDP แต่ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้
- ต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาลที่อาจลากยาวต่อเนื่องได้อีกจากอิทธิพลของปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังอ่อนที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2562 ซึ่งอาจกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ดังนั้น คงต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขความเสียหายตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมถึงต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากความรุนแรงของภัยแล้งอาจมีระดับไม่เท่ากันในแต่ละเดือน
นอกจากนี้ ต้องจับตาสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ที่ลากยาวเช่นนี้ อันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อน ซึ่งจะใช้เป็นน้ำเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้งถัดไปในปี 2563 (พฤศจิกายน 2562-เมษายน 2563) โดยจะกระทบต่อพืชเกษตรหลักที่มีฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งที่สำคัญคือ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อย ก็จะยิ่งทำให้ตัวเลขมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมีความเสียหายต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 และกระทบรายได้เกษตรกรให้ยังคงลำบากต่อเนื่องไปอีก รวมถึงในระดับภูมิภาค จะยังส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ และจะยิ่งเป็นการฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจ SMEs
[1] แบบจำลองสภาพภูมิอากาศ IRI/CPC Pacific Nino 3.4 SST Model เผยแพร่โดย NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ยืนยันการเกิดสภาวะ El Nino ฝนน้อยน้ำน้อย อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่วัดค่าได้ในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยทั่วไปมีค่า "สูงกว่า" เกณฑ์เฉลี่ย มีความผิดปกติของการนำความร้อนและ "ลมร้อน" เกิดขึ้นควบคู่กับสภาวะ El Nino ส่งผลให้สภาวะ El Nino ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง และภาวะเช่นนี้จะยังคงสูงกว่าค่าเกณฑ์ปกติไปจนถึงสิ้นปี 2562 (มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดถึงร้อยละ 50-55)
[2] เป็นการประเมินความเสียหายของข้าวนาปี ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน