กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บจ.มีกำไรงวด 9 เดือนรวมกันถึง 363,936 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่มีกำไรสุทธิสูงสุดคือ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 465 บริษัท หรือร้อยละ 96 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 486 บริษัท ได้ส่งงบการเงินงวดสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2548 มายังตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว โดยมีกำไรรวมกัน 363,936 ล้านบาท
“บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ที่ส่งงบการเงินงวด 9 เดือนแรกของปี 2548 มาจำนวน 438 บริษัท (จากทั้งหมด 459 บริษัท) มีผลกำไรสุทธิรวม 363,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 322,440 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13
โดยมีบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 370 บริษัท (ร้อยละ 84) และขาดทุนสุทธิ 68 บริษัท (ร้อยละ 16) และมียอดขายรวม 3,201,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ” นายกิตติรัตน์กล่าว
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
ด้านบริษัทในกลุ่ม SET 50 มีกำไรสุทธิ 296,470 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม (363,936 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และมีกำไรขั้นต้นร้อยละ 25
ส่วนบริษัทในกลุ่ม SET 100 (ส่งงบ 98 บริษัท) มีกำไรสุทธิ 317,010 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 และมีกำไรขั้นต้นร้อยละ 24
บริษัทที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรกคือ บมจ.ปตท.(PTT), บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) , บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบมจ. ไทยพาณิชย์ (SCB)
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจำนวน 405 บริษัท ไม่รวมบริษัทในหมวด REHABCO แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม มีกำไรสุทธิรวม 355,808 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม เรียงลำดับตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุดดังนี้
1. กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วยหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคมีกำไรสุทธิ 118,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 เนื่องจากหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เนื่องจากสถานการณ์การใช้ปิโตรเลียมโดยรวมของประเทศยังคงสูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งราคาปิโตรเคมีที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
2. กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วยหมวดธนาคาร หมวดเงินทุนหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิ 86,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ทั้งนี้ หมวดธนาคารพาณิชย์ มีกำไรสุทธิรวม 74,031 ล้านบาท ในขณะที่หมวดธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง) มีกำไรสุทธิ 7,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 4,186 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 79 โดยกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์มีกำไร 2,243 ล้านบาท
ส่วนบริษัทประกันภัย 18 แห่ง และประกันชีวิต 1 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 2,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 2,470 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11
3.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยหมวดวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรสุทธิ 53,733 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 เนื่องจากราคาของวัสดุก่อสร้างและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 แต่ยอดขายยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 21
4.กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วยหมวดสื่อสาร หมวดชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มีกำไรสุทธิ 27,880 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน
5.กลุ่มบริการ มีกำไรสุทธิ 26,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เนื่องจากยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 19
6.กลุ่มวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม มีกำไรสุทธิ 24,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ในตลาดยังมีอยู่สูง
7.กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร มีกำไรสุทธิ 13,351 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 69 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของบริษัทในหมวดอุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากสามารถส่งออกได้ในปริมาณที่มากขึ้น
8.กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มีกำไรสุทธิ 3,828 ล้านบาท
นายกิตติรัตน์กล่าวถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ว่ามีจำนวน 33 บริษัท (จาก 44 บริษัท) ที่ส่งงบการเงิน ในจำนวนนี้มีกำไรสุทธิ 19 บริษัทและขาดทุนสุทธิ 14 บริษัท โดยมีกำไรสุทธิรวม 7,724 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 14,861 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 50 เนื่องจากต้นทุนขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ลดลง
สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงานหรือ REHABCO ณ 30 กันยายน 2548 มีหนี้คงค้างรวม 247,172 ล้านบาท ลดลง 44,803 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15 จากสิ้นปี 2547 ซึ่งมีมูลหนี้ทั้งสิ้น 291,975 ล้านบาท สำหรับสถานะการฟื้นฟูกิจการของบริษัทในหมวด REHABCO ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 สรุปได้ดังนี้
- มีบริษัทที่ย้ายเข้าหมวด REHABCO เพิ่มขึ้น 6 บริษัท คือ บริษัท เซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) (CIRKIT) , บริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (DAIDO),บริษัท พันธุ์สุกรไทย-เดนมาร์ค จำกัด (มหาชน)(D-MARK) , บริษัท นครหลวงเส้นใยสังเคราะห์ จำกัด (มหาชน) (HTX), บริษัท นิวพลัสนิตติ้ง จำกัด (มหาชน) (NPK) , บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) (POMPUI)
- มีบริษัทที่ย้ายกลับหมวดปกติ 3 บริษัท คือ : บริษัท นครไทยสตริปมิล จำกัด (มหาชน) (NSM), บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (KC) , บริษัท ที.ซี.เจ.เอเซีย จำกัด (มหาชน) (TCJ)
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049--จบ--