กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าวกรมศุลกากรจับกุมไม้พะยูงลักลอบส่งออก และผลิตภัณฑ์นมหมดอายุ มูลค่ากว่า 8 ล้านบาท ณ บริเวณลานวางตู้คอนเทนเนอร์ขาออก(โกดัง1-2) ท่าเรือกรุงเทพ
ตามที่กรมศุลกากรสืบทราบว่า จะมีการลักลอบส่งออกสินค้าไม้พะยูง อันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการนำเข้าสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์นมหมดอายุมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตนมผงดัดแปลงเพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งหากปล่อยให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมที่หมดอายุไปใช้ผลิตนมผงสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงเด็กและทารก อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพพลานามัยของเด็กและทารกได้ ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและเยาวชนของชาติ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฯที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนจับกุมผู้กระทำผิด เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 รายละเอียดดังนี้
-รายที่ 1 ส่วนสืบสวนปราบปราม 2 สำนักสืบสวนและปราบปราม ตรวจค้นพบไม้พะยูงบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 6 ตู้ ประมาณตู้ละ 200 ท่อน หรือ 15 ลูกบาศก์เมตร ขนาด 20 ฟุต หมายเลข PANU4207116, PANU4218065, TGHU0208840, TGHU0217349, PANU4217979 และ PANU4227679 โดยสำแดงในใบขนสินค้าขาออก ระบบ PAPERLESS เลขที่ A009-1-5102-01602 ระบุชื่อผู้ส่งออก บริษัท ยูนิเจมส์ อิมแป็กซ์ จำกัด สำแดงชนิดสินค้าเป็นอะลูมิเนียมก้อน ปริมาณ 168 BE น้ำหนัก 95,760 กิโลกรัม ส่งออกโดยเรือ MARCATANIA VOY.802N เที่ยววันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 ปลายทาง HONG KONG ในเบื้องต้นพบว่าผู้ส่งออกใช้ชื่อของบริษัทอื่น (โดยบริษัทที่ถูกแอบอ้างไม่ทราบ) กรณีสำแดงชนิดสินค้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด ในการส่งออกสินค้าไปนอกราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 27,99 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบมาตรา 16,17 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 และสินค้า ไม้ทั้งหมดเป็นของควบคุมการส่งออกตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2549 เจ้าหน้าที่ฯจึงได้ยึด ไม้ของกลางดังกล่าวส่งกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำหรับผลการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งออกไม้พะยูง ตั้งแต่กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรสามารถจับกุมได้ทั้งสิ้น 212 ราย จำนวน 522 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท นอกจากนี้กรมศุลกากรยังได้ดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวโดยได้ประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช หามาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งออกไม้พะยูงและติดตามหาผู้ร่วมขบวนการมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป
-รายที่ 2 เจ้าหน้าที่ศุลกากรสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ได้ตรวจสอบกลุ่มสินค้าเป้าหมายพบว่ามีการนำเข้าสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์นม ENFALAC BASE (WHEY PREDOMINANT LS BASE) จากประเทศฟิลิปปินส์ ปริมาณ 11,325 กิโลกรัม มูลค่าของกลางรวมภาษีอากรทั้งสิ้น 2,207,421.06 บาท เข้ามาในราชอาณาจักรไทย นำเข้าโดยบริษัท BRISTOL-MYERS SQUIBB THAI CO,.Ltd. โดยเรือ MOL ADVENTURE (0041S) เที่ยววันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากรพบว่าที่หีบห่อสินค้า ทุกหีบห่อระบุยี่ห้อ TATURA , PRODUCT OF AUSTRALIA และพบข้อความระบุ วันหมดอายุปรากฏที่หีบห่อว่า “EXP 02/02/08 ซึ่งข้อความดังกล่าวหมายความว่าผลิตภัณฑ์นมที่นำเข้า รายนี้หมดอายุในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 และจากการตรวจสอบเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร ซึ่งมีเอกสาร COMPOSITION OF ENFALAC POWDER ที่ระบุถึงส่วนประกอบต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ นมผงดัดแปลงสำหรับทารก มีสินค้า ENFALAC BASE เป็นส่วนประกอบของนมผงฯ ยี่ห้อ ENFALAC R INFANT FORMULA ซึ่งเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
อนึ่ง การนำผลิตภัณฑ์นม ดังกล่าว ซึ่งหมดอายุแล้วเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบที่จะนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของนมผง จึงเป็นการนำเข้าวัตถุดิบมาใช้ผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ ผิดมาตรฐาน อันน่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพและไม่ถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้ สารวัตรอาหารและยา ประจำท่าเรือกรุงเทพ ยังแจ้งว่าผลิตภัณฑ์นมดังกล่าวเป็นอาหารที่ฉลากของอาหารระบุวันที่พ้นกำหนดหมดอายุแล้ว ไม่น่าปลอดภัยในการบริโภคและไม่น่าที่จะให้มีการนำเข้าอาหารดังกล่าวที่หมดอายุนำมาเพื่อจำหน่ายหรือใช้เป็นวัตถุดิบแต่ประการใด จึงถือเป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบกับมาตรา 16 , 17 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 , มาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 174 (พ.ศ. 2539) เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้กักสินค้าทั้งหมดไว้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป