กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--อิมเมจโซลูชั่น
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) เพื่อประสานความร่วมมือพัฒนางานวิชาการ งานวิจัย พัฒนาบุคลากร งานบริการวิชาการและนวัตกรรม หรือกิจกรรมงานวิจัยด้านอื่น ๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถนำไปขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ผ่านความร่วมมือแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันการศึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว มหาวิทยาลัยรังสิต โดยวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพสู่เชิงพาณิชย์ร่วมกับ กสอ. มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกการพัฒนาบุคลากร การสร้างแนวความคิดเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เพื่อต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาที่มีคุณภาพสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ กสอ. มีความมุ่งมั่นที่จะประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรังสิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในการส่งเสริมให้มีการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมต่อไป ซึ่งการลงนามดังกล่าว เป็นการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านงานวิชาการ งานวิจัย งานบริการ ด้านนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีมาส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อขยายผลและยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S - Curve) ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนธุรกิจการแพทย์ให้เป็นอุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจร เพื่อหวังลดต้นทุนและยกระดับการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ด้าน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรังสิตมีความพร้อมที่จะเป็นหน่วยงานพันธมิตร ผลักดันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี งานวิจัย นวัตกรรม อันจะนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพไทย และเพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม มหาวิทยาลัยรังสิตยินดีที่จะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรกลุ่มต่าง ๆ ให้ได้รับความรู้และประสบการณ์จากคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ และในระยะแรกเริ่มนี้ มหาวิทยาลัยรังสิตจะสนับสนุนงานด้านวิชาการ ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และสนับสนุนทุนการศึกษาพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐในระดับปริญญาโทหรือเอก นำร่องโดยวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ เพื่อให้บุคลากรภาครัฐมีความพร้อมสามารถนำองค์ความรู้มาส่งเสริมให้กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพไทยก้าวสู่สากลได้อย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ คณะทำงานฯ ยังได้ร่วมเดินเยี่ยมชมผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์ส่วนต่าง ๆ อาทิ สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ห้องปฏิบัติการวิจัยในเครือข่าย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ (ThEP) ณ วิทยาลัยชีวการแพทย์