กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความคาดหวังในนโยบายของรัฐบาล โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,218 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 23 - 24 กรกฎาคม 2562 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อความคาดหวังในนโยบายของรัฐบาล หลังจากที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิด "คำแถลงนโยบาย" คณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดย มีนโยบายหลัก 12 ข้อ และนโยบายเร่งด่วนอีก 12 ข้อ ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อความคาดหวังในนโยบายของรัฐบาล มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่ทราบว่ารัฐบาลใหม่จะมีการแถลงผลงานของรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2562 ร้อยละ 52.6 แต่สนใจที่จะติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับการแถลงผลงานของรัฐบาลต่อรัฐสภา ร้อยละ 49.1
โดยมีความคาดหวังต่อผลงานของรัฐบาลใหม่ อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 49.5 รองลงมาคือมีความคาดหวังมาก ร้อยละ 29.1 และมีความคาดหวังน้อย ร้อยละ 21.4
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการในนโยบาย อันดับที่หนึ่ง คือ เรื่องการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ ร้อยละ 16.3 อันดับที่สองคือ การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ร้อยละ 14.9 อันดับที่สามคือ การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย ร้อยละ 13.1 อันดับที่สี่คือ การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ร้อยละ 9.3 และอันดับที่ห้าคือ การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ร้อยละ 9.2
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในนโยบาย อันดับที่หนึ่ง คือ การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน ร้อยละ 18.1 อันดับที่สองคือ การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ร้อยละ 14.6 อันดับที่สามคือ มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 12.6 อันดับที่สี่คือ การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 10.1 และอันดับที่ห้าคือ การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต ร้อยละ 8.5
มีความคาดหวังเวลาในการดำเนินการของรัฐบาลใหม่ อันดับที่หนึ่ง คือ ระยะเวลา 1 ปี ร้อยละ 35.3 อันดับที่สองคือ 6 เดือน ร้อยละ 26.9 อันดับที่สามคือ 3 เดือน ร้อยละ 15.4 อันดับที่สี่คือ 2 ปี ร้อยละ 13.4 และอันดับที่ห้าคือ 3 ปี ร้อยละ 5.7