กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--แฟรนคอม เอเซีย
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักได้รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้อนุมัติการออกใบอนุญาตดำเนินธุรกิจระหว่างบริษัทอเมริกันและหัวเว่ย "ได้ตามกรอบเวลา"
การบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไปภายหลังเสร็จสิ้นการหารือระหว่างทำเนียบขาวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของอเมริกาอย่างกูเกิ้ล ควอลคอมม์ อินเทล ซิสโก้ บรอดคอม เวสเทิร์นดิจิทัล และไมครอน เทคโนโลยี ที่ "ขอให้กระทรวงพาณิชย์ของอเมริกาตัดสินใจออกใบอนุญาตให้ทันเวลา ซึ่งต่อมาประธานาธิบดีโดนัลด์ได้เห็นชอบข้อเรียกร้องดังกล่าว" โฆษกทำเนียบขาวกล่าว
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีท่าทีเหมือนจะผ่อนปรนให้กับหัวเว่ยหลังเสร็จสิ้นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในรอบที่ผ่านมา
มร. เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย เทคโนโลยี่ กล่าวว่าบริษัทของตนนั้นยังคงแน่วแน่ในการสร้างศักยภาพของตนเองให้แข็งแกร่ง แม้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวเว่ยและสหรัฐฯ จะดีขึ้นก็ตาม
ในการสัมภาษณ์ล่าสุดกับ ไฟแนนเชียลไทม์ส มร. เหรินได้กล่าวว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมากับสหรัฐฯ น่าจะทำให้หัวเว่ยได้เรียนรู้แล้ว และในขณะที่หัวเว่ยเองก็ยังต้องการซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ในสหรัฐฯ อยู่ แต่ในท้ายที่สุดบริษัทเองก็ยังมองหาหนทางที่จะลดการพึ่งพาชิ้นส่วนจากอเมริกาให้น้อยลง
มร. เหรินได้ย้ำอีกด้วยว่า "แถลงการณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับบริษัทอเมริกัน หัวเว่ยยังคงต้องการซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทอเมริกัน แต่เราก็ไม่เห็นว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้มีผลกระทบมากมายขนาดนั้น เรายังคงแน่วแน่กับการทำงานของเราให้ถูกต้อง"
เมื่อพูดถึง 5G มร. เหรินกล่าวว่าจะไม่มีปัญหาด้านการจัดส่งอุปกรณ์อย่างแน่นอน "อุปกรณ์ 5G ของเราถือว่าดีที่สุดในโลกและจะยังไม่มีบริษัทไหนตามเราทันได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จึงไม่มีปัญหาด้านการจัดส่งแน่นอน ฝ่ายผลิตของเรายังทุ่มเททำงานกันอย่างเต็มที่"
หัวเว่ย เป็นผู้จัดหาชิ้นส่วนด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ของโลกและเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับสองของโลก บริษัทได้ลงนามในสัญญา 5G เชิงพาณิชย์กว่า 50 ฉบับ และส่งมอบสถานีฐาน 5G ไปแล้วทั่วโลกกว่า 150,000 ชุด
ในประเทศไทย หัวเว่ยได้จับมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรอื่นๆ เพื่อร่วมกันสร้างศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G (5G Testbed) ขึ้นในประเทศ
"โครงการศูนย์ทดสอบ 5G ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล" มร. เติ้ง เฟิง โฆษกของหัวเว่ย ประเทศไทย กล่าว "ถ้าร่วมมือกัน เราก็จะสามารถสร้างเครือข่าย 5G ที่ดีที่สุดในประเทศไทยได้ ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเทคโนโลยี 5G และพลิกโฉมอุตสาหกรรม ประชาชนก็จะสามารถเชื่อมต่อสื่อสารกันได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น"
ในวันที่ 7 สิงหาคม หัวเว่ยจะจัดงาน IoT Industry Summit ที่กรุงเทพฯ โดยจะเน้นถึงศักยภาพของ IoT (Internet of Things) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเทคโนโลยี 5G ในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้งในด้านสมาร์ทซิตี้ สมาร์ทอินดัสทรี่ และสมาร์ทไลฟ์
"เราต้องการสร้างความพึงพอใจให้ผู้คนในสังคม เป้าหมายสูงสุดของเราคือการให้บริการแก่ลูกค้าของเรา ซึ่งก็คือ คนกว่า 6,500 ล้านคน และอาจจะมากกว่านั้นในอนาคตเมื่อ IoT เชื่อมต่อกับทุกสรรพสิ่งได้มากขึ้น ดังนั้น เราจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับผู้บริโภคและตอบสนองความต้องการของทุกผู้คน" มร. เหรินกล่าวย้ำ