ฟิทช์ ประเทศไทย ให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของตั๋วแลกเงินซึ่งได้รับการค้ำประกันบางส่วนโดย FMO ของ บริษัทฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ที่ ‘F2(tha)’

ข่าวทั่วไป Monday October 31, 2005 16:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National rating) ระยะสั้น ที่ระดับ ‘F2(tha)’ แก่ตั๋วแลกเงิน มูลค่าไม่เกิน 1 พันล้านบาท ซึ่งมีอายุไม่เกิน 270 วัน ซึ่งออกโดยบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) (“FNS”) อันดับเครดิตมีพื้นฐานมาจากความน่าเชื่อถือของ FNS ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ระดับ ‘BBB(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F3(tha)’ และส่วนสนับสนุนอันดับเครดิตจากการค้ำประกันเงินต้นในสัดส่วน 50% โดย The Netherlands Development Finance Company (“FMO”) เนื่องด้วย FMO ซึ่งมีรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ถือหุ้นในสัดส่วน 51% ได้รับการสนันสนุนภายใต้ข้อตกลงในปี 2541 จากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ FMO จึงมีอันดับเครดิตเทียบเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีอันดับเครดิตสากลที่ ‘AAA’/ แนวโน้มมีเสถียรภาพ/ ‘F1+’
ผู้ถือตั๋วแลกเงินของ FNS คาดว่าจะได้รับการชำระคืนเงินต้นจาก FNS เป็นลำดับแรก ในกรณีที่ FNS ไม่สามารถทำการชำระหนี้ได้ FMO จะทำการชำระคืนในสัดส่วน 50% ของเงินต้นเท่านั้น การค้ำประกันบางส่วนจาก FMO ช่วยลดผลขาดทุนให้นักลงทุนในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการค้ำประกันได้กำหนดให้ FMO มีสิทธิรับช่วงสิทธิในการเรียกชำระหนี้จาก FNS ในกรณีที่ FMO ได้ทำการจ่ายเงินส่วนใดส่วนหนึ่งจากการค้ำประกัน ดังนั้น หากตั๋วแลกเงินไม่ได้ถูกจ่ายเต็มจำนวนโดย FNS หรือในกรณีที่ FNS ประสบภาวะล้มละลาย อาจทำให้ทั้งผู้ถือตั๋วแลกเงินและ FMO ต้องทำการเรียกร้องการชำระหนี้คืนจาก FNS ได้ เงื่อนไขดังกล่าวอาจส่งผลให้อัตราการได้รับชำระหนี้คืนของผู้ถือตั๋วแลกเงินลดต่ำลงได้
อันดับเครดิตของ FNS สะท้อนถึงโครงสร้างของบริษัทที่เป็นบริษัทโฮลดิ้ง การกระจายความเสี่ยงของรายได้ และเงินกองทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่ได้ประกอบไปด้วยสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง ความเสี่ยงทางด้านเครดิตและความเสี่ยงทางด้านตลาด (market risk) ที่อาจเกิดขึ้นได้ และการพึ่งพารายได้ค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์ และรายได้จากการลงทุนและการค้าหลักทรัพย์เพื่อบริษัทเอง (proprietary trading) ที่ค่อนข้างผันผวน
ในครึ่งแรกของปี 2548 กำไรสุทธิของ FNS ลดลงอยู่ที่ 123.4 ล้านบาท จาก 261.1 ล้านบาท ในครึ่งแรกของปี 2547 ในขณะที่แนวโน้มของรายได้และผลกำไรในปี 2548 อ่อนแอลง ความผันผวนของรายได้ได้ถูกนำมาประกอบการพิจารณาในอันดับเครดิตแล้ว ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2548 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงอยู่ที่ระดับ 322.7 ล้านบาทหรือ 15.8% ของสินเชื่อทั้งหมด จากระดับ 345 ล้านบาทหรือ 15.3% ณ สิ้นปี 2547 อย่างไรก็ตาม ระดับสำรองหนี้สูญของบริษัทอยู่ในระดับต่ำที่ 97.2 ล้านบาทหรือเทียบเท่ากับ 30.1% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่บริษัทอาจต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมในอนาคต การที่ FNS ขาดการสนันสนุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่นการไม่ได้รับอนุมัติแผนการขออนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารหรือในช่วงที่สภาวะตลาดผันผวน บริษัท แนเชอรัล พาร์ค ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ FNS โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนการถือหุ้น 18% มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอ และได้ประกาศว่ามีความประสงค์ที่จะขายหุ้นใน FNS ส่วนกลุ่มผู้บริหารของ FNS มีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 34% ใน FNS
FMO ได้จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์และผู้ดำเนินธุรกิจต่างๆในประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 2513 ในปัจจุบัน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และธนาคารขนาดใหญ่ต่างๆในเนเธอร์แลนด์ถือหุ้นในสัดส่วน 42% กิจกรรมหลักของ FMO ซึ่งสนับสนุนภาคธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย ละตินอเมริกา และยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้างที่ยั่งยืนในประเทศเหล่านี้ รวมทั้งช่วยให้ภาคธุรกิจได้รับผลตอบแทนในระดับที่ดีไปด้วย เนื่องมาจากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเนเธอร์แลนด์และ FMO ซึ่งลงนามในปี 2541 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ จะช่วยป้องกันสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นเนื่องมาจากการที่ FMO ไม่สามารถที่จะปฏิบัติข้อผูกพันต่างๆในเวลาที่กำหนด ข้อผูกพันดังกล่าวได้รวมถึงการค้ำประกันต่างๆแก่บุคคลที่สามซึ่งเป็นการจัดหาเงินทุนแก่บริษัทเอกชนต่างๆในประเทศกำลังพัฒนา ฟิทช์จึงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงมากที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จะให้การสนับสนุนแก่ FMO ในกรณีที่มีความจำเป็น
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ
+662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง
+852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ