กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
วันที่ 26 กรกฎาคม 2562 พิธีประกาศผลรางวัล"ค่ายประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 5 [The 5TH ASEAN Student Science Project Competition (ASPC 2019)] โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผลปรากฏว่าเยาวชนไทยจากโรงเรียนสตรีระนอง กับโครงงาน "เครื่องคัดแยกขวดอัตโนมัติ" คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเยาวชนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรราชวิทยาลัย ปทุมธานี กับโครงงาน "การศึกษาวงจรชีวิต พฤติกรรมบางประการและบทบาทเชิงนิเวศวิทยาของด้วงเต่าผักบุ้งลายจุด" คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวแสดงความยินดีกับเยาวชนผู้ได้รับรางวัลว่า "รางวัลเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างกำลังใจให้แก่เรา แม้ว่าเราจะพลาดรางวัลในครั้งนี้ ก็มิได้หมายความว่า เราไม่เก่ง การได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ ได้แลกเปลี่ยนความคิด สร้างเสริมประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ได้สร้างเครือข่ายของเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นรางวัลที่มีค่ากับเยาวชนทุกคน หวังว่าโครงงานที่เยาวชนได้พัฒนาขึ้นจะถูกพัฒนาต่อไปและถูกนำมาใช้งานจริงเพื่อพัฒนาประชาคมอาเซียนของเราต่อไป"
นางกรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า "ค่ายประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 5 หรือ ASPC 2019 เป็นการประกวดเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 – 6 หรือเทียบเท่า จากกลุ่มประเทศอาเซียน โดยในปีนี้มีสมาชิกเข้าร่วม 8 ประเทศ ประกอบไปด้วย ประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย รวม 84 คน นำผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ จำนวน 44 โครงงาน เข้าร่วมประกวดแข่งขัน โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์
ผลปรากฏว่ารางวัล ASPC Project of the Year 2019 เป็นของนางสาวคาร์ทิเคน บาราติ และนายพานพิน ซูม ริช จากประเทศสิงคโปร์ ด้วยโครงงาน "เอมไซม์ที่ยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกเพื่อส่งเสริมการซ่อมแซมดีเอ็นเอโดยการเปลี่ยนแปลงโปรตีนฮิสโตน H1" สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้รับทุนการศึกษา 18,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เป็นของนางสาวสุวรรณี ยวงจันทร์ และนายกรปรินทร์ ธเนศนราธร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสตรีระนอง ด้วยโครงงาน "เครื่องคัดแยกขวดอัตโนมัติ" ได้รับทุนการศึกษา 12,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เป็นของเด็กชายนฤพัฒน์ ยาใจ และเด็กชายพีรณัฐ อัฒมเพทาย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี กับโครงงาน "การศึกษาวงจรชีวิต พฤติกรรมบางประการและบทบาทเชิงนิเวศวิทยาของด้วงเต่าผักบุ้งลายจุด" ได้รับทุนการศึกษา 12,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ เป็นของนางสาวยุนมา ซาฟา นุฮา อะฟิฟา และนางสาวอะยู อัลฟิอานิตา ราห์มาห์ จากประเทศอินโดนีเซีย กับโครงงาน "การใช้ประโยชน์จากเปลือกกล้วย เป็นสารตั้งต้นสำหรับโรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์" ได้รับทุนการศึกษา 12,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ
นายกรปรินทร์ ธเนศนราธร จากโรงเรียนสตรีระนอง อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาโครงงานของตนว่า "เครื่องคัดแยกขวดอัตโนมัติ" เครื่องนี้จะสามารถแยกขวดได้อย่างอัตโนมัติ รวดเร็ว และแม่นยำ โดยตัวเซ็นเซอร์และ ตัวควบคุมขนาดเล็กในการคัดแยกขวดทั้ง 4 ประเภท คือ แก้ว กระป๋อง ขวดพลาสติกขุน และขวดพลาสติกใส่ เพื่อลดเวลาในการคัดแยกขวด และลดขยะในโรงเรียน ในอนาคตตนอยากจะผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ในชุมชนและสังคม เพื่อการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและลดปัญหาลดอีกด้วย"
นายนฤพัฒน์ ยาใจ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาโครงงานของตนว่า "การศึกษาวงจรชีวิต พฤติกรรมบางประการและบทบาทเชิงนิเวศวิทยาของด้วงเต่าผักบุ้งลายจุด"เกิดจากตนเองและเพื่อน ๆ สนใจด้วงเต่าผักบุ้งลายจุด แต่เมื่อหาข้อมูลการวิจัยจึงพบว่ามีค่อนข้างจำกัด จึงทำการศึกษาแมลงชนิดนี้ ตั้งแต่วงจรชีวิต พฤติกรรมการเคลื่อนไหว การกิน การผสมพันธ์ และศึกษาลักษณะทางกายภาพของด้วงเต่าผักบุ้งลายจุด เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล สำหรับนักกีฏวิทยาหรือผู้ที่มีความสนใจในกีฏวิทยาในอนาคต"