กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--ซีพีเอฟ
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับมอบ "ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ หรือ Smart iFarm" จาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ไข่อัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IOT (Internet of Things) ขับเคลื่อนการเกษตรด้วยนวัตกรรม ใช้ป็นแหล่งเรียนรู้พัฒนาบุคลากรยุค 4.0
ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ม.ขอนแก่น ร่วมกับ ซีพีเอฟ ต่อยอดความสำเร็จด้านความร่วมมือทางวิชาการสู่ "ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ Smart iFarm" ศึกษาและพัฒนาอุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติและเทคโนโลยีสารสนเทศติดตั้งในโรงเรือนการเลี้ยงไก่ไขในระบบปิดแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เพื่อใช้เป็นห้องเรียนสำหรับนักศึกษา และเกษตรกรที่สนใจ เตรียมความพร้อมบุคลากรก้าวสู่เกษตรทันสมัย
"ขอขอบคุณซีพีเอฟที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาและสนับสนุนมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบ Smart farm ที่บริษัทให้การสนับสนุนในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียน การสอน และการค้นคว้าวิจัยด้านการศึกษา ที่สำคัญจะเป็นต้นแบบระบบโรงเรือนอัจฉริยะที่ให้บุคลากรทางการศึกษาได้ใช้เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตไก่ไข่ เพื่อถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการต่อไป" ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าว
คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น ร่วมกับ ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการและกิจการเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ต่อมา ในปี 2560 บริษัทได้สนับสนุนการก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ความจุ 20,017 ตัว เป็นศูนย์เรียนรู้ฟาร์มปศุสัตว์ให้แก่นักศึกษาและผู้ที่สนใจ ล่าสุด บุคลากรของคณะฯ และซีพีเอฟร่วมกันศึกษาและติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติในโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่
โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่อัจฉริยะของคณะเกษตรฯ ม.ขอนแก่น มีเป้าหมายเพิ่มปริมาณไข่ไก่ 10 ฟอง/ตัว/รุ่น หรือประมาณ 200,000 ฟอง/รุ่น และคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณร้อยละ 10 หรือประมาณ 0.23 บาท/ฟอง ที่สำคัญ SMART iFarm ถือเป็นสถานที่เรียนรู้และฝึกฝนความรู้ด้านเทคโนโลยี 4.0 ในภาคเกษตรกรรมแก่บุคลากรรุ่นใหม่ที่ออกมาสู่ธุรกิจและพร้อมทำงานทันที
ด้าน นายเรวัติ หทัยสัตยพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษา การสนับสนุนการสร้าง SMART iFarm เป็นต้นแบบของโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่อัจฉริยะ นำเทคโนโลยี IOT มาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการภายในฟาร์มแบบเต็มรูปแบบ ตั้งแต่กระบวนการเลี้ยง การลำเลียงไข่ไก่ด้วยรางอัตโนมัติ ใช้เซ็นเซอร์ในการนับจำนวนไข่ รวมถึงการคัดขนาดไข่ไก่ ซึ่งสั่งการผ่านระบบอินเตอร์เน็ททั้งหมด เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงและลดต้นทุนให้กับโครงการฯ ที่สำคัญ โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่อัจฉิรยะจะเป็นห้องเรียนรู้และฝึกทักษะบุคลากรทางการศึกษาทั้งด้านปศุสัตว์และเทคโนโลยี ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม.