Super Poll โพล ประเมินผลแถลงนโยบายรัฐบาลวันแรก

ข่าวทั่วไป Tuesday July 30, 2019 10:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ประเมินผลแถลงนโยบายรัฐบาลวันแรก กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,563 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เก็บข้อมูลวันที่ 26 ก.ค. พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เมื่อถามถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการแถลงนโยบายรัฐบาลวันแรก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.8 ไม่ได้ประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 27.2 ได้ประโยชน์ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.6 ไม่เชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองทำตามนโยบายหาเสียง ในขณะที่ร้อยละ 21.4 เชื่อมั่น เมื่อประเมินความพึงพอใจของประชาชนต่อฝ่ายต่าง ๆ ในสภาฯ ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และประธานสภาฯ ในการทำหน้าที่แถลงนโยบายรัฐบาลภาพรวม เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ฝ่ายค้านได้ 6.46 คแนน ผู้ทำหน้าที่ประธานสภาฯ ได้ 5.84 และฝ่ายรัฐบาลได้ 5.11 คะแนน อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.2 ระบุ ไม่มีใครน่าชื่นชอบเลยในวันแถลงนโยบายรัฐบาลวันแรก ในขณะที่ ร้อยละ 20.8 ระบุมีคนที่น่าชื่นชอบ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล นางสาวช่อ พรรณิการ์ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว นางสาว ปารีณา ไกรคุปต์ เป็นต้น แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึง คนนอก สภาฯ ที่น่าชื่นชอบ ทุ่มเททำงานหนักแก้เดือดร้อนชาวบ้านได้ดี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.0 ระบุมีคนนอก สภาฯ ที่น่าชื่นชอบ เช่น นาง ปวีณา หงสกุล นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 25.0 ระบุไม่มีใคร ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า อารมณ์ของสาธารณชนยังเปิดโอกาสให้รัฐบาลและคนในสภาฯ ได้ทำงานเร่งแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนแต่ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นประโยชน์อะไรที่ได้รับจากการแถลงนโยบายและขาดความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมืองที่เคยหาเสียงไว้ จึงเสนอให้เอาวาทกรรมการเมืองในสภามาทำให้เห็นเป็นจริงจังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จับมือแกนนำฝ่ายค้าน "เดินตลาดสด" หรือลงพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นจุดวิกฤตเดือดร้อนของประชาชนและเอามาอภิปรายแก้ปัญหาเดือดร้อนประชาชนในสภาร่วมกัน เช่น ภัยแล้ง คนไทยตกงานบริษัทใหญ่ปิดตัว ปัญหายาเสพติด ค่าครองชีพสูง ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ จนได้ข้อยุติเป็นผลงานร่วมกัน ผลที่ตามมาคือ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสภาฯ น่าจะกลับคืนมาได้ไม่ยากนัก ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ไม่มีใครรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยจริง ๆ ในอีก 20 ปีตามยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งไว้ แต่สิ่งที่รู้มีสิ่งเดียวคือ การเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถจะคาดการณ์ได้และประชาชนกำลังต้องการจะรู้ว่าเป้าหมายปลายทางของนโยบายรัฐบาลอยู่ที่ไหน วันแต่ละวันพวกเขาจะหาเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ถ้าผู้นำและผู้บริหารประเทศมองเห็นเป้าหมายปลายทาง (Destination) แต่สาธารณชนยังมองไม่เห็น จึงจำเป็นต้องสร้างความฝัน (Dream) ร่วมกัน และออกแบบ (Design) ร่วมกันในการขับเคลื่อนพลังของสาธารณชนไปพร้อมกับรัฐบาลและฝ่ายค้านสู้กับความเดือดร้อนให้คลี่คลายได้ "ประชาชนและสาธารณชนในเวลานี้อยู่ในสภาวะที่ไร้อำนาจ (Powerless) หรือ สภาวะแปลกแยกในความเป็นมนุษย์ (Alienation) เพราะกำลังเดือดร้อนทุกข์หนักเกินความสามารถของตนเองและชุมชนจะจัดการได้ ข้อเสนอแนะคือ การหาทางออกร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก ทำให้คนจนคนมีรายได้น้อย เช่น คนชายขอบแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ คนในชุมชนแออัดในเมือง ได้มีอำนาจที่ชอบธรรมตามกฎหมายในการช่วยตัวเองและกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาเดือดร้อนของตนเองในระดับชุมชนของตนเองได้มากขึ้น นำเรื่องเหล่านี้มาหารือในสภาฯ ร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อสภาฯ กลับคืนมา" ผศ.ดร.นพดล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ