กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--เพอร์เฟ็ค คอนเน็คชั่น
สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) ร่วมกับพันธมิตร 7 องค์กรหลัก เร่งขับเคลื่อน 28 ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย “ส่งเสริมผู้ใช้ - ผลิตโปรแกรมเมอร์หน้าใหม่ — เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย แสดงศักยภาพ” สอดรับยุคเศรษฐกิจพอเพียง พุ่งเป้าซอฟต์แวร์ไทยโตสอดรับเป้าแสนล้านของซิป้า
สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจัดแถลงข่าวในวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 13.00 น.-15.00 น.ที่ผ่านมา ณ ห้อง มณฑาทิพย์4 โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ นำโดย นายสมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการ ร่วมแถลงนโยบายการทำงานของสมาคมฯ ในปี 2551 เผยทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในปีนี้ พร้อมประกาศ 28 ยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ด้วยความร่วมมือจาก 8 องค์กรหลัก ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA), Software Park, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), สำนักงานส่งเสริมนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), กรมส่งเสริมการส่งออก (DEP), กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย( ITAP) และ มหาวิทยาลัยรังสิต
จากการที่ทางสมาคมฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาของวงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศ ที่แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก คือ ด้านผู้ใช้ซอฟต์แวร์ ที่ยังขาดความรู้และการประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจถึงความสามารถของซอฟต์แวร์ไทย จึงยังขาดความเชื่อมั่นทำให้ไม่กล้าใช้, ด้านนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และด้านผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่ยังขาดกำลังในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ให้เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งต้องการแรงสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้ใช้ และสร้างมาตรฐานให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยผลิตผลงานที่มีคุณภาพ พร้อมการบริการที่ดียิ่งขึ้น
นายสมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารงานตามแผนยุทธศาสตร์ล่าสุด ที่สมาคมวางแผนให้ครอบคลุมการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในทุก ๆ ด้านว่า นโยบายการทำงานของสมาคมปี 2551 นี้ จะเน้นที่การปฏิบัติงานตามกรอบแนวทางของ 28 ยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ตลอดช่วงปี 2551 — 2554 ซึ่งในขณะนี้ ทางสมาคมฯได้เริ่มโครงการบางส่วนไปบ้างแล้ว เช่น โครงการ Buy Thai First “เชื่อไทย ซื้อไทย” ที่เป็นโครงการส่งเสริมให้มีการซื้อและใช้ซอฟต์แวร์ของไทยมากขึ้น โดยได้ออกแคมเปญ “Thailand Software Yes, มองหาซอฟต์แวร์ มองหาสัญลักษณ์ Software Yes” เปิดตัวด้วย Road Show รณรงค์ให้ผู้ประกอบการติดตราสัญลักษณ์ Thailand Software Yes เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ต้องการใช้ซอฟต์แวร์ไทย และล่าสุดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ซอฟต์แวร์ให้ครบถ้วน ทางสมาคมฯ จึงได้จัดทำหนังสือ Software Buyer Guide ที่รวบรวม Software Solution ต่าง ๆ กว่า 200 Solutions เพื่อเป็นคู่มือแก่ผู้ที่กำลังมองหาซอฟต์แวร์สายเลือดไทย ที่นอกจากจะมีราคาย่อมเยาว์กว่าซอฟต์แวร์ต่างชาติแล้ว ระบบจัดการยังรองรับลักษณะการทำงานแบบคนไทยได้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย
สำหรับจุดแข็งของซอฟต์แวร์ไทย นายสมเกียรติกล่าวว่า “จริง ๆ แล้วซอฟต์แวร์ไทยมีจุดแข็งอยู่ที่ความเป็น Local Content เพราะประเทศไทยมีความอ่อนไหวในเรื่องของวัฒนธรรม กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่าง ๆ อีกทั้งระบบประเทศที่กำลังพัฒนาทำให้กฎเกณฑ์ดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ซึ่งผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ชาวไทยจะตระหนักในข้อนี้ดี และมีความเข้าใจเรื่องกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองเราได้ละเอียดมากกว่า ตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์บัญชี ที่ใช้สำหรับคำนวณภาษี ตรงนี้ซอฟต์แวร์ไทยถือว่าได้เปรียบในการลงลึกในรายละเอียดมาก”
นอกจากนี้สมาคมฯ ยังมีแผนยุทธศาสตร์ที่โดดเด่นด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย เช่น โครงการพัฒนาโปรแกรมเมอร์ 100 ราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยเป้าหมายเพื่อพัฒนานักโปรแกรมเมอร์ให้มีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น จากนั้นจึงป้อนแรงงานอาชีพสู่ Software House ต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ, โครงการ ICT Training ซึ่งเป็นการฝึกอบรมให้กับนักศึกษาที่กำลังจะจบ ในลักษณะ Internship โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ เพื่อป้อนสู่ตลาด ICT ในอนาคต ซึ่งนอกจาก 2 โครงการที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว สมาคมยังมีโครงการฝึกอบรมอื่น ๆ ที่คาดว่าในแต่ละปีจะสามารถผลิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์หน้าใหม่ได้ทันต่อความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยได้
ส่วนด้านของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยนั้น สมาคมฯมีเป้าหมายจะยกระดับภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ผ่านโครงการมากมาย เช่น โครงการ Software Shop Channel ที่จะเป็นเสมือนศูนย์กลางการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนข้อมูล การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ การนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ การจัดสัมนาเชิงธุรกิจ การลงทุน เทคโนโลยี และการนำเสนอ solution ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ซอฟต์แวร์มีช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้และผู้ประกอบการโดยตรง อันจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการได้ หรือจะเป็นโครงการ Thailand Software Fair 2008 ที่จะเป็นการรวมเอาเหล่า Software House ที่มีในประเทศไทย มาร่วมจัดนิทรรศการ นำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ (Exclusive Software Exhibition) มีการรวบรวมซอฟต์แวร์ไทยมา Show Case ในแต่ละ Verticle เป็นต้น
“ปัจจุบันนี้แรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยถือได้ว่ามีคุณภาพมาก ได้รับการรับรองจากบริษัทชั้นนำหลายบริษัท รวมถึงมาตรฐานการจัดการต่าง ๆ ของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ก็เริ่มทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากเราพัฒนาให้ผู้ประกอบการกลายเป็น Real Supply ได้จริง และสามารถสร้าง Real Demand ให้เกิดขึ้นได้ ก็จะทำให้อัตราการซื้อขายซอฟต์แวร์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ซึ่งตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศไทยถือได้ว่าเล็กมากถ้าเทียบกับตลาดโลกที่เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา Billing Software อยู่ที่ 25 ล้านล้านบาท แต่หากถามว่ามันคือโอกาสไหม ผมว่ามันคือโอกาส” นายสมเกียรติ กล่าว
สำหรับด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ทางสมาคมฯ ได้วางแผนยุทธศาสตร์ทั้งด้านการดำเนินการวิจัยและพัฒนา “สถานะและแนวโน้มทางการตลาด และการพัฒนาของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย” เพื่อให้ทราบทิศทางการตลาด ซึ่งจะเป็นตัวชี้นำและกำหนดการวางแผน ปฏิบัติงานได้ในทันที และนอกจากนี้สมาคมฯ ได้วางกลยุทธ์เพื่อสร้างเครือข่ายและโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระดับภูมิภาคด้วยเช่นกัน โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมส่งเสริมการส่งออก, สำนักงานส่งเสริมนวัตกรรมแห่งชาติ, ไมโครซอฟต์, อินเทล เป็นต้น
“ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของนโยบายปี 2551 ซึ่งเป็นเกณฑ์ระยะสั้น สำหรับในระยะยาวเรามองตลาดส่งออกซึ่งนั่นจะทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศทีละมาก ๆ โดยตลาดที่มองไว้ เช่น ตลาดลาว, ตลาดเวียดนาม, ตลาดจีน และหวังจะรุกตลาดเพื่อนบ้านอื่น ๆ ในอนาคต” นายสมเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย
Panisara Palas (Bow)
Marketing Executive
T : 02 694 6500 # 108
M : 089 857 0117
Please visit : www.buythaifirst.com.
E-mail: panisara@perfectconnection.co.th