กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัย จัดโครงการอบรมหลักสูตรความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติในโรงเรียน ให้กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศเพื่อให้บุคลากรทางการศึกษามีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม ที่จะส่งผลให้เด็กสามารถเอาตัวรอดเมื่อต้องเผชิญภัยพิบัติ พร้อมนำผลการอบรมมานับเป็นชั่วโมง เพื่อประกอบการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะได้
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการลดความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญในการพัฒนาประเทศเพื่อป้องกันความเสียหายทางสังคม เศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้ลงนามในข้อตกลงนานาชาติที่เรียกว่า กรอบการทำงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ พ.ศ.2558 - 2573 ซึ่งประกาศใช้ในการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14-18 มีนาคม 2558 ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น
ด้วยเหตุนี้ สพฐ. จึงได้ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย องค์กรช่วยเหลือเด็ก มูลนิธิรักษ์ไทย และสมาชิกเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัย จัดทำโครงการอบรมหลักสูตรความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติในโรงเรียน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้กรอบการทำงานดังกล่าวขึ้น โดยขั้นตอนการดำเนินการอบรม ประกอบด้วย
1. การตอบแบบสอบถามการดำเนินงานความปลอดภัยของสถานศึกษาเพื่อประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงของสถานศึกษา โดยวัดจากค่าพื้นฐาน Baseline Survey ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะต้องทำแบบสำรวจนี้ก่อนจึงจะสามารถลงทะเบียนเข้าห้องเรียนออนไลน์ได้
2. ลงทะเบียนเข้าเรียนออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaisafeschools.com โดยให้ผู้เรียน เริ่มศึกษาทีละบท ทีละหัวข้อ และสามารถเรียนซ้ำ หยุดเรียนหรือเรียนต่อเมื่อใดก็ได้
3. ทำแบบทดสอบก่อนและหลังเรียน โดยผู้เรียนสามารถประเมินความรู้ทั้งก่อนเรียน และหลังเรียนว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงภัยพิบัติอยู่ในระดับใด
4. เมื่อเรียนจบทุกหัวข้อ และคะแนนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ผู้เรียนสามารถพิมพ์วุฒิบัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับรองการผ่านการอบรมได้ด้วยตนเอง รวมถึงยังสามารถนำผลการอบรมมานับเป็นชั่วโมงการพัฒนาเพื่อประกอบการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด
"การอบรมครั้งนี้จะทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 29,715 โรงเรียน ได้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบของภัยธรรมชาติที่มีต่อชีวิตมนุษย์และภาคการศึกษา มีความสามารถประเมินความเสี่ยงภัยของโรงเรียน สามารถวางมาตรการและวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม ตลอดจนสามารถดูแลรักษาโครงสร้างและกลไกพื้นฐานให้ปลอดภัย รวมทั้งบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ และบุคลากรทางการศึกษาได้เข้าเรียนหลักสูตรดังกล่าว" ดร.สุเทพ กล่าว
ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัย เผยว่ามูลนิธิศุภนิมิตฯ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา มีชุมชนเป็นฐานการพัฒนา ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินงานทั้งสิ้น 76 โครงการ ใน 42 จังหวัดครอบคลุมทุกภาคของประเทศ ทั้งนี้มูลนิธิศุภนิมิตฯ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัย ได้ดำเนินการโครงการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนมีความปลอดภัยตามกรอบการทำงาน และกรอบมาตรฐานสากล Comprehensive School Safety ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
1.สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนที่ปลอดภัย
2.การจัดการภัยพิบัติในสถานศึกษา
3. การให้ความรู้ด้านการลดความเสี่ยงและการรู้รับปรับตัว
โดยเมื่อปี พ.ศ.2560 มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ร่วมกับ สพฐ. และศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ภายใต้เครือข่ายโรงเรียนปลอดภัย ดำเนินการสำรวจความพร้อมเพื่อการลดความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติของสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ พบว่าโรงเรียนร้อยละ 42.71 มีความปลอดภัยของอาคารสถานที่อยู่ในกลุ่มดี และร้อยละ 37.79 อยู่ในขั้นดีมาก ส่วนความพร้อมด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ พบว่าโรงเรียนร้อยละ 35 อยู่ในกลุ่มพอใช้ ในขณะที่กลุ่มดีและดีมาก มีอัตราส่วนร้อยละ 25.27 และ 21.73 ตามลำดับ ส่วนความพร้อมด้านการให้การศึกษาเรื่องการลดความเสี่ยงและการรู้รับปรับตัวจัดอยู่ในกลุ่มดีมากร้อยละ 59.16
จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีช่องว่างในด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ ในสถานศึกษาและการเตรียมความพร้อมด้านอาคารสถานที่ให้ปลอดภัย รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพ ของบุคลากรในระดับโรงเรียนให้มีความรู้ ทักษะ และความชำนาญ ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มูลนิธิต่างๆ อาสาสมัคร นอกจากนี้ยังพบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่มีกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดความเสี่ยงภัยพิบัติในเชิงรุก อีกทั้งยังไม่มีกระบวนการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งขาดคู่มือที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ในสถานศึกษาตามบริบทความเสี่ยง
"มูลนิธิศุภนิมิตฯ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัย หวังว่าหลักสูตรการอบรมนี้จะช่วยสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น ให้มีกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดความเสี่ยงภัยพิบัติในเชิงรุก อีกทั้งมีกระบวนการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสามารถพัฒนาคู่มือที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้จัดการในสถานศึกษาตามบริบทความเสี่ยงภัยของแต่ละพื้นที่ได้ตามกรอบมาตรฐานสากลต่อไป" ดร.สราวุธ กล่าว