กรมศุลกากรขยายบริการรับชำระอากรOn-Lineผ่านธนาคารดอยซ์แบงก์

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 14, 2008 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551) เวลา 09.30 น. นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงให้ความร่วมมือในการรับชำระภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านระบบหักบัญชีอัตโนมัติของธนาคาร กับผู้บริหารธนาคารดอยซ์แบงก์ นายรังกาชารี รากาวาน Chief Country Officer และนายสุรนิตย์ สรสุชาติ Chief Operation Officer ณ ห้องประชุมอนุมานราชธน กรมศุลกากร คลองเตย
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรมีนโยบายอำนวยความสะดวกในการชำระเงินค่าภาษีอากร เพื่อสร้างความโปร่งใส รวดเร็ว ลดขั้นตอนในการติดต่อกับกรมศุลกากร ตลอดจน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ โดยให้ผู้ประกอบการกระทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ ภายใต้ระบบการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยวิธีหักบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบพิธีการศุลกากร ทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) ของกรมศุลกากร
ปัจจุบัน กรมศุลกากรได้เปิดโอกาสให้ทุกธนาคารพาณิชย์ที่มีความพร้อม และประสงค์ที่จะเข้าร่วมให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบหักบัญชีอัตโนมัติของธนาคาร หรือ e-Payment สามารถเป็น Customs Bankได้ เพื่อขยายการบริการรับชำระค่าภาษีอากร ในระบบ e-Payment แก่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ให้สามารถใช้บริการได้หลากหลายธนาคาร โดยมีธนาคารเข้าร่วมเป็น Customs Bank แล้ว 7 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้ง 7 ธนาคาร ได้ให้ความร่วมมือกับกรมศุลกากรในการพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ โดยการให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบหักบัญชีอัตโนมัติของธนาคาร รวมทั้งให้บริการการวางประกันด้วยเงินสดด้วย
อธิบดีกรมศุลกากร เพิ่มเติมว่า การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรโดยหักบัญชีธนาคารของ Customs Bank เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในเดือนมิถุนายน 2550 มีปริมาณการรับชำระภาษีอากร จำนวน 70 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 11.6 ล้านบาท ส่วนในเดือนสิงหาคม 2550 มีปริมาณการรับชำระภาษีอากร จำนวน 312 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 66.6 ล้านบาท จนกระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2551 มีปริมาณการรับชำระภาษีอากร จำนวน 1,400 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 193.4 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ