กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 6 โดยในงานได้จัดให้มีการมอบรางวัลให้ผู้มีผลการดำเนินงานดีเด่นจากการประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระดับประเทศ ประจำปี 2561 ทั้ง 8 ประเภท ตลอดจนจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ "ตามรอยพระบาทศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ณ หอประชุมเกษม จาติกวณิช 2 สำนักงานกลาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
ดร.สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี เป็นโครงการที่สอศ.ดำเนินการร่วมกับกฟผ. โดยการนำจุลินทรีย์ (EM) ที่มีประสิทธิภาพและการนำเกษตรกรรมธรรมชาติเข้ามาดำเนินการในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อสนองแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงพระราชทานไว้และถือเป็นสัญลักษณ์ของความห่วงใยที่พระองค์ท่านมีต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดมา นอกจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแล้ว ภายในงานยังจัดให้มีการมอบรางวัลการประกวดโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระดับประเทศ ประจำปี 2561 ให้กับสถานศึกษา ครู นักศึกษา ประชาชน และชุมชนที่มีการดำเนินงานดีเด่น รวม 8 ประเภท ดังนี้ ประเภทที่ 1 การดำเนินงานภายในวิทยาลัยดีเด่น ในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร และการดำเนินงานภายในวิทยาลัยดีเด่น ในรูปแบบแปลงสาธิต ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพตรังประเภทที่ 2 ครู บุคลากรทางการศึกษา นำไปใช้และขยายผลดีเด่น ได้แก่ นายดุสิต สะดวก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคามประเภทที่ 3 นักศึกษาปัจจุบันนำไปใช้และขยายผลดีเด่น ได้แก่ นายพร้อมพงษ์ ลาหู่นะ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย ประเภทที่ 4 ราษฎรที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัยและใช้ได้ผลดีเด่น ได้แก่ นางไลลา บุญเทียม โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ประเภทที่ 5ชุมชนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ได้แก่ ชุมชนบ้านไทรย้อย โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ ประเภทที่ 6 โรงเรียนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัยและใช้ได้ผลดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนบ้านคลองนกระทุง โดยวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ประเภทที่ 7 การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ในโครงการชีววิถีฯดีเด่น ได้แก่ ชุดเลี้ยงกบในขวดพลาสติกและปลูกผักระบบน้ำหมุนเวียนผสมจุลินทรีย์ EM โดย วิทยาลัยการอาชีพไชยา ประเภทที่ 8 งานวิจัยโครงการชีววิถีฯดีเด่น ได้แก่ ผลการเสริมหญ้ารูซี่หมักอีเอ็มที่ระดับต่างกันต่อสมรรถภาพการผลิตไก่งวงลูกผสม โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการดำเนินการใน 4 กิจกรรม ได้แก่ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์น้ำ ปศุสัตว์ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ แทนการใช้สารเคมี ซึ่งโครงการชีววิถีฯ ได้เข้ามาดำเนินการในสถานศึกษาสังกัดสอศ. ตั้งแต่ปี 2546 และมีความร่วมมือที่ดีต่อกันมาจนถึงปี 2561 มีผลการดำเนินงานและการขยายผลที่ประสบความสำเร็จ โดยมีการดำเนินงานภายในวิทยาลัยแล้วถึง 103 แห่ง มีครู บุคลากรทางการศึกษานำไปใช้และขยายผลแล้ว 52 คน นักเรียนนำไปใช้และขยายผล 54 คน ราษฎรที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย นำไปใช้และขยายผล 65 คน ชุมชนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัยและใช้ได้ผล 383 ชุมชน โรงเรียนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัยและใช้ได้ผล 35 แห่ง มีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม 93 ชิ้น และงานวิจัยในโครงการชีวิวิถี 51 เรื่อง ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงฉบับใหม่นี้ กฟผ. และ สอศ. จะร่วมมือกันดำเนินโครงการชีววิถีฯให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้ง 2 หน่วยงาน ผลการดำเนินงานดังกล่าวจะทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะในนโยบายด้าน CSR และยุทธศาสตร์ของ กฟผ.ต่อภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นการเสริมกำลังให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้แข็งแกร่งมากขึ้น นับเป็นกลยุทธ์สู่ความสำเร็จด้วยการผูกมิตรกับสถานศึกษา แล้วส่งต่อไปถึงภาคสังคมและประชาชนต่อไป
"ผมเชื่อมั่นว่า โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา การอาชีวศึกษาด้านเกษตรกรรม พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งประโยชน์เหล่านี้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ทำให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคงได้อย่างยั่งยืน" ดร.สาโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย