กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--บุญรอดบริวเวอรี่
เพื่อให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการมอบน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง สิงห์อาสา ผนึกกำลัง เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา 16 สถาบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ช่วยบรรเทาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบทั้งต่อภาคเกษตรกรรมที่ขาดน้ำในการทำเกษตรและภาคประชาชนที่ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ โดยเริ่มลงพื้นที่แรกในการนำน้ำดื่มแจกจ่ายให้กับพี่น้องผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม และร่วมกันทำท่อประปาใช้เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำจากภูเขาเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้อง ที่อ.สังขละ จ.สุรินทร์
ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ของเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้กว่า 100 ชีวิต จาก 16 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์,มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ,มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร,มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยออกปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้นทันที คือ ร่วมแจกจ่ายน้ำกว่า 20,000 ลิตร ให้กับชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังช่วยติดตั้ง "ธนาคารน้ำสิงห์" ซึ่งเป็นแท้งค์น้ำขนาด 2,000 ลิตรจำนวน 4 แท็งก์ ไปติดตั้งในพื้นที่หมู่บ้านโคกแปะและหมู่บ้านบูรพาพัฒนา ต.โคกสีทองหลาง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ให้ชาวบ้านได้มีน้ำกินน้ำใช้ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ด้านการทำท่อประปาที่บ้านกะเลงเวก หมู่ 2 ต.เทพรักษา อ.สังขละ จ.สุรินทร์ ทางสิงห์อาสาได้ลงพื้นที่สำรวจนำน้ำกว่า 2,000 ลิตร แจกจ่ายให้ชาวบ้านและนำท่อประปาพีวีซีขนาด 3 นิ้ว จำนวน 200 ท่อน มอบให้แก่หมู่บ้าน โดยมีน้องๆ เครือข่ายนศ.ร่วมแรงร่วมใจกับชาวบ้านทำท่อประปาเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำจากภูเขาเข้าสู่หมู่บ้าน ทั้งนี้น้องๆ ยังร่วมพูดคุยให้กำลังใจชาวบ้านอีกด้วย
ทั้งนี้ สิงห์อาสา และเหล่าเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา 16 สถาบันของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจอาสาที่ยิ่งใหญ่ จะดำเนินงานตามพันธกิจ สร้างแนวร่วมในการดูแลประเทศที่ประกาศไว้ โดยจะเฝ้าระวังและลงพื้นที่สำรวจบริเวณที่ประสบภัยแล้งทั่วภาคอีสาน และดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อให้พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยได้คลายทุกข์ และได้รับน้ำ (ใจ) อย่างทั่วถึง
ด้านเครือข่ายนักศึกษาฯ นางสาวสายสุดา แข็งแรง (น้องกุ๊กกิ๊ก) อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า "ดิฉันได้มีโอกาสลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งพร้อมกับพี่ๆสิงห์อาสา ทำให้รับรู้ถึงปัญหาว่าชาวบ้านเดือดร้อนมาก ไม่มีทั้งน้ำกินน้ำใช้ ดิฉันจึงตัดสินใจไปร่วมกิจกรรมตั้งแต่การไปเตรียมถังน้ำ ล้างถังน้ำที่บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด และลงพื้นที่จริงมอบน้ำให้ชาวบ้านที่จ.มหาสารคาม โดยทำหน้าที่ดูแลภาพรวมทั้งกิจกรรมตั้งแต่การเตรียมขวดน้ำ การพาชาวบ้านไปเข้าแถวรับน้ำ ช่วยต่อแถวให้คุณตาคุณยายและขนน้ำไปส่งที่บ้าน รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ทำอาสาในครั้งนี้ ได้เรียนรู้การเสียสละ การมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น สิงห์อาสาถือว่าเป็นช่องทางที่ทำให้นักศึกษาธรรมดาคนหนึ่งได้มีโอกาสแสดงพลังเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ ตลอด 3 ปีที่ได้ทำกิจกรรมกับสิงห์อาสาประทับใจทุกครั้งค่ะ"
นายศรัณญ์ เรืองแก้ว (น้องโอ๊ต) อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยีท่ออุสาหกรรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า "เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสมาทำอาสากับสิงห์อาสา รู้สึกประทับใจมากครับ ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยมอบน้ำให้กับชาวบ้านได้มีกินมีใช้ ผมดูแลในส่วนของการกรอกน้ำใส่ขวด และช่วยขนน้ำไปส่งที่บ้านของชาวบ้าน เพราะมีคุณตาคุณยายเยอะเลยที่มารอรับน้ำ ตอนไปส่งก็มีคุณยายท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าต้องซื้อน้ำมาอาบเลยเพราะแล้งมาก เดือดร้อนมาก ดีใจที่สิงห์อาสามาช่วย และคุณยายก็อวยพรให้ผม รู้สึกประทับใจมากที่ได้ช่วยพวกท่าน ปกติผมอยู่ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของคณะ ก็จะได้ทำอาสาแบบปลูกป่า แต่ครั้งนี้ได้มาช่วยคน รู้สึกได้ประสบการณ์และความทรงจำดีๆกลับไปเยอะเลยครับ"
นางสาวจิราพร อ่อนสาร (น้องยุ้ย) อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี "ดิฉันเรียนเกี่ยวกับเกษตรอยู่แล้ว เข้าใจความรู้สึกของชาวบ้าน ชาวสวนชาวนาอย่างดี การแก้ปัญหาภัยแล้ง ก็คือฝน แต่หากตามธรรมชาติไม่มี ก็คงต้องใช้ฝนเทียมแต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง การที่ได้น้ำจากสิงห์อาสาทำให้ช่วยบรรเทาภัยแล้งได้ ซึ่งดิฉันชอบทำงานอาสาอยู่แล้ว และเป็นหัวหน้าโครงการฝายพระราชดำริ น้อมรำลึกพระราชาสู่ฝายมีชีวิต ของคณะในมหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ในจ.อุดรธานี จ.บึงกาฬ การมาลงพื้นที่สิงห์อาสาในครั้งนี้ดิฉันจึงพร้อมเต็มที่และมีความสุขมาก ถ้ามีกิจกรรมสิงห์อาสาอีก ดิฉันเข้าร่วมแน่นอนค่ะ"
นายอรรถพล ต่องสุพรรณ (น้องอาฟู่) ชั้นปีที่3 สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาตร์ มรภ.อุบลราชธานี กล่าวว่า"รู้สึกดีใจมากค่ะที่ได้มาทำกิจกรรมอาสาแบบนี้ ดิฉันและเพื่อนๆ รวมถึงคุณลุงคุณป้าชาวบ้านต่างช่วยกันต่อท่อประปาเพื่อลำเลียงน้ำจากภูเขาลงมาสู่หมู่บ้านเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร อาจจะมีเหนื่อยบ้าง แต่พอต่อสำเร็จน้ำไหลออกมารู้สึกชื่นใจอย่างบอกไม่ถูก และมีความสุขมากค่ะ ยิ่งได้เห็นรอยยิ้มของคุณลุงคุณป้ายิ่งมีความสุข ดีใจที่มีโอกาสได้มาทำสิ่งดีๆแบบนี้ค่ะ"
นางสาวจันทกานต์ สารคิด (น้องแต) อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาอุตสาหกรรมศิลป์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ กล่าวว่า "ระยะทางกว่าจะถึงที่หมู่บ้านกะเลงเวกค่อนข้างไกลและไม่สะดวกเท่าไร แต่เมื่อไปถึงรู้สึกดีมากเลยค่ะ รับรู้ได้ถึงจิตใจที่ดีงามของคนในหมู่บ้านนี้ คุณตาคุณยาย คุณลุงคุณป้าทุกท่านน่ารัก อัธยาศัยดีมาก การทำประปาภูเขาครั้งนี้ระหว่างทางจึงเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เต็มไปด้วยการร่วมแรงร่วมใจ เป็นงานอาสาที่ดิฉันไม่เคยทำมาก่อน รู้สึกประทับใจและคิดว่ากิจกรรมสิงห์อาสาในครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีมากค่ะ ถ้ามีโอกาสจะไปทำอีกแน่นอน"