กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
การดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอคือหนทางสู่การป้องกันโรค แต่ในบางครั้งกลับพบว่าคนที่ร่างกายแข็งแรงดีต้องเผชิญโรคภัยต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเป็นเพราะโรคบางโรคไม่ได้เกิดขึ้นจากพฤติกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะป้องกันได้ และหลาย ๆ โรคก็มักจะต้องใช้การผ่าตัดในการรักษา ซึ่งเมื่อพูดถึงการผ่าตัดหลายคนมักจะเกิดความกลัวในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความเจ็บปวด รอยแผลเป็นขนาดใหญ่ ความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน การพักฟื้นในโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์ และผลกระทบในการใช้ชีวิตหลังผ่าตัด เป็นต้น แต่ในปัจจุบันการผ่าตัดมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป เนื่องจากมีเทคโนโลยีผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง (Minimally Invasive Surgery- MIS) แบบสามมิติ (3D) ที่ทำให้การผ่าตัดในยุคนี้กลายเป็นเรื่องเล็กลงสำหรับผู้ป่วย
นายแพทย์พรเทพ ประทานวณิช ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง โรงพยาบาลนครธน ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้องมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ทั้งจากในประเทศไทย ญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการผ่าตัดรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบ โรคนิ่วในถุงน้ำดี และโรคอื่น ๆ ใช้วิธีการผ่าตัดมาตรฐานแบบเปิดแผลใหญ่ จึงทำให้คนไข้มีอาการเจ็บแผล ส่งผลให้หลังการผ่าตัดต้องใช้เวลาในการพักฟื้นนาน แต่ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้องเข้ามาใช้ โดยเป็นการเจาะรูเล็ก ๆ จำนวน 3-4 แผล บริเวณสะดือและหน้าท้อง ซึ่งแผลจะเล็กเพียง 0.5-1.0 เซนติเมตร จากนั้นแพทย์จะนำเครื่องมือที่ติดกล้องสอดเข้าไปในรูและใช้เครื่องมือขนาดเล็กผ่าตัดบริเวณจุดดังกล่าว โดยกล้องก็จะแสดงผลออกมาทางหน้าจอแบบเรียลไทม์ ส่งผลให้คนไข้เจ็บแผลน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ และยังลดโอกาสในการเกิดแผลติดเชื้อ ทำให้ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วกว่า
"ในช่วงแรกกล้องที่ใช้สำหรับการผ่าตัดยังเป็นกล้องแบบสองมิติที่ถึงแม้จะมีความคมชัดแต่ไม่สามารถรับรู้ถึงความลึกของบริเวณที่ผ่าตัดได้ ต่อมาจึงได้มีการพัฒนามาเป็นกล้องแบบสามมิติที่มีทั้งความคมชัดและสามารถเห็นความลึกได้แบบละเอียดมาก ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นเส้นเลือดเล็ก ๆ หรือเนื้อเยื่อได้อย่างชัดเจนมากกว่าแบบจอ 2 มิติ ส่งผลให้การผ่าตัดรวดเร็ว แม่นยำ ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยล่าสุดมีการผ่าตัดลำไส้คุณยายอายุ 98 ปี ด้วยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องแบบสามมิติ คนไข้พักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลเพียง 5 วันเท่านั้น" นายแพทย์พรเทพ กล่าว
นายแพทย์พรเทพได้ให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง 3 มิติกับโรคต่าง ๆ ไว้ว่า โรคไส้ติ่งอักเสบ นั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาว ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องบริเวณรอบสะดือในตอนแรก แล้วย้ายมาปวดบริเวณท้องขวาล่าง หากยังไม่แน่ใจว่าอาการปวดดังกล่าวเป็นอาการของไส้ติ่งอักเสบหรือไม่ ควรรีบมาพบแพทย์และไม่ควรรับประทานยาฆ่าเชื้อเอง เนื่องจากฤทธิ์ของยาจะบดบังอาการ ทำให้กลายเป็นฝีหรือไส้ติ่งอักเสบเรื้อรังได้ สำหรับการผ่าตัดรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบโดยทั่วไปยังคงใช้การผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ แต่หากเลือกรักษาด้วยการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง 3 มิติ ก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น โดยแพทย์จะเจาะบริเวณสะดือแล้วสอดอุปกรณ์เข้าไป จากนั้นจะตัดไส้ติ่งที่อักเสบเป็นหนองใส่ในถุงเก็บชิ้นเนื้อก่อนที่จะดึงขึ้นมาทางรูแผลที่เจาะประมาณ 1 ซม. ดังนั้นส่วนที่เป็นหนองจะไม่มาเลอะแผลผ่าตัด ซึ่งลดความเสี่ยงแผลติดเชื้อได้
อีกหนึ่งโรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด คือ โรคนิ่วในถุงน้ำดี มักเกิดจากถุงน้ำดีอุดตัน ซึ่งถุงน้ำดีเปรียบได้กับถังเก็บน้ำ โดยตับจะผลิตน้ำดีออกมาและน้ำดีจะไหลลงมาเก็บอยู่ในถุงน้ำดี เมื่อรับประทานอาหารเสร็จถุงน้ำดีก็จะบีบให้น้ำดีออกมาช่วยย่อยไขมัน แต่หากถุงน้ำดีอุดตันก็จะไม่สามารถบีบน้ำดีออกมาช่วยย่อยได้ ทำให้เกิดอาการปวดท้องหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง แตกต่างจากโรคกระเพาะที่มักจะปวดก่อนรับประทานอาหาร ซึ่งนิ่วในถุงน้ำดีที่พบบ่อยในคนไทยมีด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ นิ่วจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Stones) และนิ่วจากเม็ดสี (Pigment Stones) หรืออาจเป็นได้ทั้ง 2 แบบในผู้ป่วยบางราย และมักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยอาการปวดจะแตกต่างกันไป บางคนอาจไม่แสดงอาการให้เห็น แต่สำหรับบางคนจะมีอาการปวดท้องผิดปกตินาน 2-3 ชั่วโมง โดยจะปวดท้องด้านขวาบน และปวดร้าวไปที่สะบักขวาด้านหลังส่วนล่าง ซึ่งหากปวดไม่หายเป็นระยะเวลานานควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องจากนิ่วในถุงน้ำดีมีโอกาสที่ถุงน้ำดีจะอักเสบถึง 20-30% ในอนาคต ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดยากยิ่งขึ้น ซ้ำร้ายนิ่วในถุงน้ำดีอาจหลุดมาอุดตันท่อน้ำดี ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และภาวะติดเชื้อในท่อน้ำดีได้ แต่สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการปวดท้องมาก่อนแล้วมาตรวจ Check up หรือตรวจอัลตราซาวด์ แล้วพบนิ่วในถุงน้ำดีโดยบังเอิญ หากพบว่านิ่วมีขนาดเกิน 2.5 เซนติเมตร หรือผนังถุงน้ำดีมีขนาดหนามากกว่า 3 มิลลิเมตร ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการรักษานิ่วในถุงน้ำดีไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเอานิ่วออกเหมือนการรักษานิ่วในไต เนื่องจากสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ แพทย์จึงต้องใช้วิธีตัดถุงน้ำดีออกไป ซึ่งร่างกายจะสามารถปรับตัวรับน้ำดีจากตับได้โดยตรง
"การผ่าตัดโรคนิ่วในถุงน้ำดีในอดีตเป็นการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่เพื่อเลาะเอาถุงน้ำดีออก โดยแพทย์ต้องตัดกล้ามเนื้อหน้าท้องด้านขวาบนก่อนที่จะเข้าไปในช่องท้อง ดังนั้นคนไข้จะรู้สึกเจ็บแผลมาก และรู้สึกเจ็บเวลาหายใจ ทำให้คนไข้หายใจไม่เต็มปอด ส่งผลให้ปอดแฟบและมีอาการปอดอักเสบได้ในเวลาต่อมา แต่ในปัจจุบันแพทย์สามารถรักษาโดยใช้เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง 3 สามมิติ ทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว โดยพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้" นายแพทย์พรเทพ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีโรคอื่น ๆ ที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดอีกมาก อาทิ โรคไส้เลื่อน โรคมะเร็งกระเพาะ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคทางนรีเวช เป็นต้น ดังนั้นหากมีเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง 3 มิติ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการรักษาให้แพทย์ได้มากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยลง และใช้เวลาในการพักฟื้นเพียงเล็กน้อย ทำให้ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกกลัวการผ่าตัดอีกต่อไป