Super Poll เสียงประชาชนกับ หวย 12 นักษัตร

ข่าวทั่วไป Monday August 5, 2019 09:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เสียงประชาชนกับหวย12 นักษัตร กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,503 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง 1 - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีประชาชนเล่นหวยจำนวนทั้งสิ้น 25,436,465 คน (ยี่สิบห้าล้าน สี่แสนสามหมื่นหกพันสี่ร้อยหกสิบห้าคน) โดยมีค่าเฉลี่ยความบ่อยในการเล่นหวยที่ผ่านมาของประชาชนอยู่ที่ 9.67 ครั้ง และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ พบค่าเฉลี่ยความบ่อยในการถูกรางวัลที่ผ่านมาของประชาชนอยู่ที่เพียง 0.0033 ครั้งเท่านั้น ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ค่าเฉลี่ยความบ่อยของประชาชนที่ถูกรางวัลเพียง 0.0033 ครั้งนี้ในทางสถิติหมายถึงว่าไม่มีโอกาสจะถูกได้เลย แต่ที่มีการสร้างกระแสปลุกปั่นความแม่นถูกหวยของคนจากคนเล่นหวยหลายล้านคน เมื่อคนหลายล้านคนเล่นหวยพอมีคนแค่หยิบมือหนึ่งถูกก็จะกลายเป็นกระแสปั่นให้คนอื่น ๆ มัวเมาลุ่มหลงและเล่นหวยกัน ผลที่ตามมาคือ เอาเงินของคนผิดหวังหลายล้านคน ไปจ่ายให้คนที่ถูกเพียงไม่กี่คน เงินเล่นหวยที่เหลือจะอยู่ที่เจ้ามือหรือคนออกหวย ผลคือ รวยกระจุก จนกระจาย ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เป็นคนดีมีศีลธรรมประจำใจน่าจะคิดเองได้ไม่ยากนัก ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.8 ระบุหวยรูปแบบใหม่ เช่น นักษัตร เป็นการมอมเมาประชาชน ในขณะที่ ร้อยละ 27.2 ระบุไม่เป็น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.0 ระบุไม่เห็นด้วยต่อการออกหวยรูปแบบใหม่ เช่น หวยนักษัตร เพราะ เพราะทำให้คนบ้าหวย เป็นหนี้มากขึ้น คนจนจนมากขึ้น ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ยอมทำมาหากิน รอวันหวยออก ก่ออาชญากรรม คนถดถอยห่างไกลศีลธรรม สังคมเสื่อม เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 25.0 เห็นด้วย เพราะรัฐจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น คนได้สนุก ตื่นเต้นลุ้นวันหวยออก เป็นต้น "ผลโพลนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังเป็นคนดีมีจิตใจที่ใฝ่ศีลธรรมในพระศาสนาฯ แต่น่าเป็นห่วงตรงที่ว่าคนที่ยอมผ่อนไม่เดินตามหลักศีลธรรมกำลังมีจำนวนมากขึ้น ถ้าหากรัฐบาล ผู้ใหญ่ของบ้านเมือง นักวิชาการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองกำลังเห็นชอบให้เกิดสิ่งมัวเมาเพิ่มขึ้นในสังคมไทย ผลกระทบทางสังคมที่ตามมาในอนาคตต่อความยากจนของประชาชนและสถาบันหลักของชาติ ใครจะออกมารับผิดชอบ" ผศ.ดร.นพดล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ