กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
วธ.-กองทุนพัฒนาสื่อฯ ร่วมหนุนภาคีเครือข่ายจัดรวมพลนักอ่าน "มหกรรมการอ่านแห่งชาติ ครั้งที่ 3 : มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยในภูมิภาค" ในงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้อุบลราชธานี ครั้งที่ 11 ส่งเสริมคนไทย-เยาวชนรักการอ่าน การเรียนรู้
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่รัฐบาล โดย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ.2560-2564 ผ่านคณะกรรมการบูรณาการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีเป้าหมายส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 90 นาที จาก 66 นาที นั้นเป็นที่น่ายินดีว่ามีหลายหน่วยงานบูรณาการทำงานของหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาสังคม ทำให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านขึ้นกับคนไทยทุกช่วงวัยและนำสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ พร้อมกันนี้รัฐบาลโดย วธ.ได้มีมาตรการภาษี เช่น นำใบเสร็จซื้อหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์และหนังสืออีบุ๊กมาหักลดหย่อนสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และโครงการ "หรีดหนังสือ หรีดอาลัย…ให้ปัญญา" เป็นต้น
ปลัด วธ. กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดได้รับรายงานว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และเครือข่ายแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่งสังคมแห่งการเรียนรู้ของไทยทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 30 องค์กร สสส. จัดงาน "มหกรรมการอ่านแห่งชาติ ครั้งที่ 3 : มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยในภูมิภาค" ภายใน งานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้อุบลราชธานี ครั้งที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 10-18 สิงหาคม 2562 ณ ชั้น 3-4 สุนีย์ทาวเวอร์ จังหวัดอุบลราชธานี มีนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ เจ้าหน้าที่ และผู้รับทุนฯ ร่วมในพิธีเปิดงาน พร้อมเปิดเวทีเสวนา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ : "ความหวังและนวัตกรรมแห่งการสานสร้างพลังเด็กและเยาวชน" มีผู้แทนของกองทุนพัฒนาสื่อฯ และผู้ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อฯ เข้าร่วมเสวนา ด้วย
"กิจกรรมดังกล่าว เป็นตัวอย่างการส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะต่างจังหวัดในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนหนังสือ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่หน่วยงานรัฐ เอกชนและสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการจัดพิมพ์ จำหน่ายหนังสือและส่งเสริมการอ่านช่วยกันจัดทำยุทธศาสตร์ แผนงานและจัดกิจกรรมเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการอ่านของรัฐบาลให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นและเปิดโอกาสในการค้นคว้าหาความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในต่างจังหวัด" ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรม อาทิ งานวิชาการ งานนวัตกรรมส่งเสริมการอ่านที่ประสบความสำเร็จ กิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่หลากหลายทั้งระดับครอบครัว ชุมชน และระดับชาติ ฯลฯ ซึ่งประกอบด้วย โซนอุบลคนมักอ่าน โซนอ่านอุ่นรัก โซนอ่าน เล่น สร้างสุข โซนมหัศจรรย์การอ่าน โซนนิทรรศการและบูทกิจกรรมจากองค์กรสนับสนุน และ โซนนวัตกรรมส่งเสริมการอ่าน เป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านอย่างสนุกสนาน นิทรรศการด้านการอ่านที่เป็นประโยชน์มากมาย