Media Release WWF-ประเทศไทย จับมือศิลปินรุ่นใหม่ออกแบบ Line Sticker ในแคมเปญ “เปลี่ยนแชทเป็นช่วย” (Chat2Change)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 5, 2019 14:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--WWF WWF-ประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว Line Sticker ภายใต้แคมเปญ "เปลี่ยนแชทเป็นช่วย" (Chat2Change) ณ Woofpack Space ครีเอทีฟ คอมมิวนิตี้ใจกลางกรุงเทพมหานคร จับมือ 5 ศิลปินรุ่นใหม่ส่ง LINE Sticker 5 ชุดร่วมสื่อสารปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานด้านการอนุรักษ์ WWF-ประเทศไทย เล็งเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนที่ทั่วโลกจำเป็นต้องแก้ไข และเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกชีวิต อีกทั้งยังเชื่อว่าทุกคนเป็นพลังสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยในยุคเปลี่ยนผ่านสู่สังคมออนไลน์ สื่อดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร และยังเป็นสื่อทรงพลังที่สามารถสร้างกระแสอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นได้ WWF ประเทศไทย จึงริเริ่มโครงการจัดทำ LINE Stickers เพื่อสื่อสารเรื่องราวของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นประเด็นทางสังคม LINE Sticker ทั้ง 5 ชุดที่ออกแบบโดยศิลปินจิตอาสา จะสื่อสารประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน อาทิ ปัญหามลพิษพลาสติก , ความสำคัญของเสือโคร่งกับป่าไทย, ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของแรด , แพนด้าแดงกับการค้าสัตว์ผิดกฎหมาย ไปจนถึงประเด็นด้านการทรมานสัตว์ป่าในวงการแฟชั่น ทั้งนี้ ศิลปินทั้ง 5 ได้ออกแบบผลงานโดยใช้ข้อความ การสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่แฝงไปด้วยข้อมูลเชิงอนุรักษ์ที่ฝากให้ทุกคนร่วมกันแก้ไข "Homeless Tiger" สติ๊กเกอร์ที่จะบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของเสือ หนึ่งในดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าประเทศไทย ที่จะปล่อยให้เหล่าชาว LINE ได้ร่วมปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งการพิทักษ์เสือ ในช่วงวันพิทักษ์เสือโลก โดยสติ๊กเกอร์เซ็ต Homeless Tiger นี้ ได้รับการสร้างสรรค์โดยคุณปรียศรี พรหมจินดา นักวาดภาพประกอบ เจ้าของนามปากกา NAAMNOI ศิลปินจิตอาสาผู้มีความเชื่อในพลังการสื่อสารของศิลปะ โดยเริ่มจำหน่ายเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมนี้ สถานการณ์เสือโคร่ง และการฟื้นฟูประชากรเสือทั่วโลก งานอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง รวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นพันธกิจหลักในการดำเนินโครงการอนุรักษ์ของ WWF ประเทศไทย โดยปัจจุบัน เสือโคร่งจัดเป็นสัตว์ที่ตกอยู่ในสถานะอันตรายใกล้สูญพันธุ์ จำนวนประชากรลดลงกว่า 95% ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา และจากรายงานล่าสุดพบว่า ปริมาณประชากรเสือโคร่งทั่วโลกหลงเหลืออยู่เพียง 3,900 ตัว ในขณะที่ประเทศไทยมีการสำรวจพบเสือโคร่งในป่าเพียง 150-200 ตัวเท่านั้น ท่ามกลางภัยคุกคามมากมาย ทั้งการล่าเพื่อชิ้นส่วน การสูญเสียพื้นที่ป่าที่เป็นที่อยู่อาศัย ส่งผลให้เหยื่อของเสือโคร่งน้อยลง WWF ทั่วโลก จึงมีเป้าหมายร่วมกันในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง โดยตั้งเป้าว่า ภายในปี ค.ศ. 2022 ประชากรเสือโลกจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยในปัจจุบัน ประเทศเนปาลได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว "Fur Journey" สติ๊กเกอร์ ที่ออกแบบโดย "Mindmelodyworld" หรือคุณนภัสญาณ์ นาวาล่อง สะท้อนความจริงของการนำสัตว์ มาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น และการทดลอง ไม่ว่าจะเป็น ตัวมิ้งค์ หรือกระต่าย การทารุณกรรมสัตว์ เป็นเรื่องที่องค์กรอนุรักษ์ทั่วโลก ให้ความสำคัญและพยายามส่งเสียงเรียกร้องไปยังภาคอุตสาหกรรมให้หยุดการทรมานสัตว์เพื่อแลกมากับผลผลิต และความรุ่งเรืองของภาคอุตสาหกรรมเริ่มจำหน่ายวันที่ 18 สิงหาคม 2562 การทดลอง และการนำผลิตภัณฑ์จากสัตว์มาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น จากสถิติพบว่า ในแต่ละปีมีสัตว์กว่า 50 ล้านตัวถูกฆ่าเพื่อนำขนมาทำเสื้อผ้า ทั้งที่เลี้ยงในฟาร์ม และล่าตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ตัวมิ้งค์, จิ้งจอก, กระต่าย (มีความนิยมอย่างสูง), พอสซั่ม, ลิ้งซ์ (lynxes), นาก (otter), หมี และตัวลิ่น (Pangolin) องค์กรพิทักษ์สัตว์ หรือ PETA ระบุว่ามีสุนัขจิ้งจอกอาร์กติกที่เลี้ยงในฟาร์มถูกขุนให้อ้วนกว่าปกติถึง 5 เท่า เพราะขนที่หนาจะยิ่งทำให้ได้ราคาแพงขึ้น อีกทั้ง ในปี 2014 ตัวมิ้งค์ 41 ล้านตัวถูกฆ่าเพื่อเอาขนในแถบทวีปยุโรป โดย 18 ล้านตัวถูกฆ่าในประเทศเดนมาร์ก, 7.8 ล้านตัวในประเทศโปแลนด์, และ 5.5 ล้านตัวในประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ 85 % ของสัตว์ที่ถูกล่าเอาขนเลี้ยงในกรงขัง ทำให้สัตว์เกิดภาวะเครียด สัตว์ที่ถูกเลี้ยงจะถูกฆ่าในที่สุดด้วยกรรมวิธีแสนโหดร้าย อาทิ ช็อตไฟฟ้า, รมควัน, หรือหักคอเชือด "Rhino Spirit" สติ๊กเกอร์สีสันจัดจ้านในลายเส้นแนวสตรีทออกแบบโดย คุณพิเชฐ รุจิวรา-รัตน์ เจ้าของนามปากกา Tikkywow วางจำหน่ายในวันแรดโลก ตัวละครสติ๊กเกอร์ทั้ง 16 ตัวนี้จะสะท้อนคาแรคเตอร์ของแรด ที่ถูกเปรียบเปรยอย่างเจ็บแสบในบริบทไทยๆ และยังแฝงด้วยข้อมูลเชิงอนุรักษ์เกี่ยวกับสถานการณ์ของการอนุรักษ์แรด ที่เป็นอีกหนึ่งวาระเร่งด่วนของโลก เริ่มจำหน่าย 22 กันยายน 2562 แรด กับสถานการณ์อันน่าเป็นห่วง จากรายงานล่าสุดของ WWF พบว่าทั่วโลกมีแรดเหลือไม่ถึง 30,000 ตัว โดยในประเทศไทยถูกพบล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2540 แรด กลายเป็นสัตว์ที่ตกอยู่ในสภาวะอันตรายใกล้สูญพันธุ์ โดยสาเหตุหลักมาจากการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย และการลักลอบฆ่าในแอฟริกา เพื่อนำนอไปส่งขายในตลาดมืด โดยตลาดที่ใหญ่ที่สุด คือ ประเทศเวียดนาม โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำนอแรดเหล่านี้มาทำเป็นเครื่องประดับ หรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อ ทั้งนี้ 5 สายพันธุ์ของแรดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติได้แก่ แรดขาว แรดดำ แรดงาเดียว แรดสุมาตรา และ แรดชวา โดยเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ โลกของเราเผชิญกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง เมื่อ "แทม" (Tam) แรดสุมาตรา หรือที่บ้านเราเรียกว่ากระซู่ เพศผู้ตัวสุดท้ายของประเทศมาเลเซียจบชีวิตลง "Voice of Little Red" ผลงานของคุณจักรกฤษณ์ อนันตกุล กราฟฟิคดีไซน์เนอร์เจ้าของนามปากกา HELLO I AM JK หยิบคาแรคเตอร์น่ารักๆ ของแพนด้าแดงขี้เหงา สะท้อนความจริงของ การพลัดพรากจากแหล่งที่อยู่อาศัยในป่า และถูกจับมาใส่กรงเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง เริ่มจำหน่าย 15 ตุลาคม 2562 แพนด้าแดง ความน่ารักที่กลายเป็นภัยแก่ตัว WWF รายงานว่าปัจจบุน ประชากรแพนด้าแดงที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติทั่วโลก หลงเหลืออยู่ไม่ถึง 10,000 ตัว โดยมีภัยคุกคามจากการล่า และการสูญเสียที่อยู่อาศัย ทำให้ประชากรแพนด้าแดงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และด้วยขนที่ฟู และความน่ารักของแพนด้าแดง ทำให้พวกมันมักถูกล่าเอาขน นอกจากนี้National Geographic ยังเปิดเผยว่า แพนด้าแดงอาจะเป็นสัตว์ป่าชนิดต่อไปที่จะถูกขายในตลาดมืดเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงอีกด้วย "Plastic Bomb" สติ๊กเกอร์ที่นำเสนอเรื่องราวของปัญหาขยะในท้องทะเลที่กำลัง เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเพราะนอกจากขยะพลาสติกจะทำให้สภาพชีววิทยาทางทะเล เปลี่ยนแปลงแล้ว การปนเปื้อนของพลาสติกขนาดเล็กในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ทะเล ยังส่งผลมาถึงมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก สติ๊กเกอร์ชุดนี้ออกแบบโดย คุณสมัชญา แซ่จั่น เจ้าของร้านสติกเกอร์ Mangowomango ที่ทำงานมายาวนานเพื่อการอนุรักษ์ทะเล เริ่มจำหน่าย 15 พฤศจิกายน 2562 ปัญหาขยะทะเล สู่ไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์ ทุกๆ ปี ขยะทะเลกว่า 8 ล้านตัวทุกทิ้งลงสู่ทะเล โดยผู้เคราะห์ร้ายคือสิ่งมีชีวิตใต้มหาสมุทร อย่าง เต่าทะเล ไปจนถึงวาฬ และสัตว์น้ำอื่นๆ ที่ต้องสังเวยชีวิตจากการกินพลาสติกเข้าไปอย่างไม่รู้ตัว และในปัจจุบันงานวิจัยพบว่ามีชิ้นส่วน ไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในร่างกายมนุษย์เช่นเดียวกัน ปัจจุบันรัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากขยะพลาสติกในทะเล ที่มีต่อระบบนิเวศทางทะเลมากขึ้น ปีที่แล้วมีการลงชื่อสนับสนุนมาตรการลดมลพิษขยะพลาสติกในทะเลจากกว่า 200 ประเทศ โดยประเทศไทยเอง ก็ได้ประกาศ Roadmap ในการกำจัดขยะพลาสติกในปีพ.ศ. 2562-2573 ซึ่งในปีนี้ มีเป้าหมายในการเลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม , พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ (ที่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติก) และ ไมโครบีดจากพลาสติก ที่มักจะปะปนอยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสีฟัน และน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ เราสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนวิธีสื่อสาร ให้กลายเป็นพลังเพื่อปกป้องโลกอย่างยั่งยืน และ WWF-ประเทศไทย ชื่อว่าศิลปะคืออีกหนึ่งส่วนสำคัญ ที่จะสามารถสื่อสารความสำคัญด้านการอนุรักษ์ให้กับผู้คนในสังคม ติดตามความเคลื่อนไหวของแคมเปญเปลี่ยนแชทเป็นช่วยได้ทางช่องทางการสื่อสารของ WWF ประเทศไทย Facebook: https://www.facebook.com/wwfthailand Instragram: https://www.instagram.com/wwf_thai/ Twitter: https://twitter.com/WWFThailand เกี่ยวกับ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งมั่นทำงาน และอุทิศเพื่องานด้านการอนุรักษ์ ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันในกว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติของโลกในเชิงลบและสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ของโลกที่มีมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสมดุลย์ ด้วยการอนุรักษ์สภาพชีววิทยาที่หลากหลาย และมุ่งทำงานเพื่อรักษาทรัพยากรด้านพลังงานให้ถูกนำกลับมาใช้งานอย่างสมดุลย์และยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการทำงาน เพื่อหยุดยั้งมลพิษและการบริโภคที่เกินพอดี สามารถศึกษาข้อมูลการทำงานของเราเพิ่มเติมได้ที่ www.panda.org/news และติดตามการทำงานของ WWF ประเทศไทยได้ที่ Facebook: https://www.facebook.com/wwfthailand/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ