กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--เมคอะเว็ลท์ คอนซัลติ้ง
ฟูลเลอร์ตัน มาร์เก็ตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเมินเศรษฐกิจโลก ธนาคารกลางหลายประเทศประกาศลดดอกเบี้ย ส่งสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบ 10 – 12 ปี สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ยังยืดยาวไปอีกเป็นปี ดังนั้น แนะนักลงทุนจับตาเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด พร้อมจับตาจังหวะเอาคืนของจีน ในกรณีสงครามการค้ากับสหรัฐ
ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ Bangkok ASEAN Tour 2019 งานสัมมนาด้านธุรกิจและการลงทุนที่จัดโดย ฟูลเลอร์ตัน มาร์เก็ตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Fullerton Markets International) กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการด้านการเงินระดับโลก โดยในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก มาริโอ้ ซิงห์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟูลเลอร์ตัน มาร์เก็ตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล มาร่วมคาดการณ์เศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง โดยกล่าวว่า "สถานการณ์เศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน เริ่มส่งสัญญาณเกิดวิกฤติ ซึ่งจากที่มีการศึกษาวิกฤติการณ์ในอดีต ตั้งแต่ Energy Crisis ในปี พ.ศ. 2518 Back Monday ปี พ.ศ. 2530 Asian Financial Crisis ในปี พ.ศ. 2540 และ Subprime Crisis ในปี พ.ศ. 2551 เราพบว่าแต่ละเหตุการณ์มีระยะห่างอยู่ราว 10-12 ปี ซึ่งตรงกับช่วงเวลานี้"
"เมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันจากทั่วโลก พบว่าสัญญาณสำคัญของวิกฤติการณ์เริ่มเกิดขึ้นแล้ว โดยธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มมีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดแรงจูงใจในการเก็บออมเงินของผู้บริโภค และเพิ่มแรงจูงใจในการกู้ยืมเพื่อลงทุนหรือขยายกิจการของภาคธุรกิจ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกลางยุโรปที่เพิ่งส่งสัญญาณความตั้งใจที่จะลดอัตราดอกเบี้ย โดยอาจเป็นภายในเดือนกันยายน และเริ่มดำเนินการซื้อสินทรัพย์รอบใหม่ในปีนี้ อินเดียที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในรอบ 9 ปี ออสเตรเลียที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1% เกาหลีที่ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 3 ปี ตุรกีปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 17 ปี เศรษฐกิจสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่า 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาสที่ 2 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี หรือแม้แต่เฟดก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการแถลง FOMC ในสัปดาห์ที่ผ่านมา"มาริโอ้ กล่าว
ขณะที่ จิมมี่ ซู หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ ฟูลเลอร์ตัน มาร์เก็ตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็มาร่วมคาดการณ์ตลาดเป็นครั้งแรกในรอบปีทั้งสำหรับประเทศไทย อาเซียน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยระบุว่าให้จับตาสงครามการค้าอย่างต่อเนื่อง เพราะมีโอกาสที่จะเกิดความผันผวนครั้งใหญ่ ความยืดเยื้ออาจจะมองได้ 2 กรณี กรณีแรกคือก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ ซึ่งยังมองไม่เห็นข้อสรุปใดๆในขณะนี้ ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนั้นความจริงแล้ว โดนัล ทรัมป์ เพียงต้องการให้จีนให้ความร่วมมือกับสหรัฐในการทำธุรกิจขนาดใหญ่กับจีน เพราะที่ผ่านมาจีนมีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กในประเทศให้เติบโต เป็นการสร้างความแข็งแรงให้เศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจีนมีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐนั่นเอง กรณีที่ 2 ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังไม่มีความแน่นอน และไม่สามารถตัดสินได้ นับจากนี้ไปอีก 12 เดือน ประเทศต่างๆจึงยังคงได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ซึ่งนำมาต่อความผันผวนของการค้าและค่าเงินในหลายประเทศ
"สิ่งที่น่าจับตามองมากที่สุดคือการตอบโต้จากจีน โดยเมื่อพิจารณาฝั่งของโดนัล ทรัมป์ พบว่าทรัมป์ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการประคองภาวะตลาดหุ้นในสหรัฐ นั่นก็เป็นเพราะดุลการค้าการส่งออกไปยังจีนมีมูลค่า เพียงประมาณ 1,000 ล้านเหรียญ ขณะที่การนำเข้าสูงถึง 5,000 – 6,000 ล้านเหรียญ การตอบโต้จากจีน จึงไม่น่าเป็นการตอบโต้ในทางการค้า แต่ด้วยการเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีสินทรัพย์มาก ตลาดหุ้นอาจเป็นหนทางในการที่จีนจะเอาคืน มีความเป็นไปได้สูงที่จีนจะเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อเมริกา เมื่อราคาหุ้นร่วงดิ่งลง ก็จะนำมาสู่ปัญหาการเลย์ออฟพนักงาน ทำให้เกิดว่างงานเป็นจำนวนมาก นี่อาจเป็นชนวนที่จะนำไปสู่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก"
จิมมี่ ซู ยังกล่าวต่ออีกว่า ผลของสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบกับทุกภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยซึ่งได้รับผลกระทบจึงต้องเตรียมรับมือ เพราะถ้าจีนเจอกำแพงภาษีที่ 25% นั่นหมายความว่าจะส่งผลกระทบต่อ GDP ของจีนลดลง 0.9% และ 0.9% ที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อ GPD ของประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 0.4% และการที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่จึงติดตามดัชนีภาคการผลิตของจีนซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในไทยอย่างใกล้ชิด
เศรษฐกิจไทยนับจากนี้จึงค่อนข้างท้าทายของรัฐบาล เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจโลกก็อยู่ในภาวะที่ตกต่ำ ขณะที่อัตราความเติบโตของการบริโภคในประเทศค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับขนาดและจำนวนประชากรในประเทศ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็คงไม่สามารถที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ แม้ในหลายประเทศได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปแล้ว เพราะอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ค่อนข้างสูงยังเป็นแรงกดดันให้แบงก์ชาติอาจจะต้องคงนโยบายเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนโยบายรัฐบาลอาจจะมีนโนบายต่างๆ ในเรื่องการลงทุนในสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ออกมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อเกิดการจ้างงาน และสร้างกำลังซื้อเข้ามากระตุ้นระบบเศรษฐกิจ
ดังนั้น กูรูทั้งสองจากฟูลเลอร์ตัน มาร์เก็ตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งท้ายด้วยการเน้นย้ำนักธุรกิจและนักลงทุนให้จับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมองหาโอกาสในการเพิ่มมูลค่าในการทำธุรกิจและการลงทุน ตลอดจนต้องศึกษาเครื่องมือและผลิตภัณฑ์การเงินและการลงทุนใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ สามารถต่อยอดทำกำไรได้แม้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย