ปภ.แนะข้อควรปฏิบัติในการป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงแล้วขับจากการทานยา...อันตรายที่ป้องกันได้

ข่าวทั่วไป Monday August 5, 2019 16:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการป้องกันอุบัติเหตุง่วงแล้วขับที่มีสาเหตุจากการทานยา โดยผู้ที่ต้องขับรถควรปรับเวลาการทานยาให้เหมาะสมกับแผนการเดินทาง หากต้องทานยา ควรใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หากขับรถอยู่แล้วมีอาการง่วงนอนควรจอดรถพักในบริเวณ ที่ปลอดภัย รวมถึงสังเกตอาการข้างเคียงจากการทานยาในระยะแรก หากทานแล้วมีอาการง่วงนอนควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่อาจเกิดขึ้น นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การทานยาที่มีฤทธิ์ กดประสาท อาจส่งผลให้ผู้ขับขี่ง่วงหลับในและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินช้าลง ทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้อย่าง มีประสิทธิภาพ จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในลักษณะรุนแรง เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการป้องกันอุบัติเหตุง่วงแล้วขับที่มีสาเหตุมาจาก การทานยา ดังนี้ ปรับเวลาทานยา โดยไม่ทานยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนในช่วงก่อนและขณะเดินทาง ควรทานยา เมื่อถึงจุดหมายแล้ว กรณีที่ทานยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน ควรใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือให้ผู้อื่นขับรถแทน และหาก มีอาการง่วงนอนขณะขับรถ ควรจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย รอจนกว่ายาจะหมดฤทธิ์จึงค่อยขับรถไปต่อ สังเกตอาการข้างเคียงจากการทานยาในระยะแรก โดยเฉพาะยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ ยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนและหลับใน กรณีทานยาแล้วมีอาการง่วงนอน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อปรับเปลี่ยนยาหรือลดปริมาณยาลง ส่วนข้อห้ามในการ ทานยา ห้ามทานยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนกับเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เพราะจะบีบหัวใจ กระตุ้นการทำงานของสมอง ตาค้าง และมึนงง ทำให้หลับในขณะขับรถ รวมถึงห้ามทานยากับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้มีอาการมึนเมา ส่งผลให้ง่วงนอนเพิ่มเป็นสองเท่า ทั้งนี้ ยาส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากการทานยา และมีฤทธิ์ต่อเนื่องอย่างน้อย 4 – 6 ชั่วโมง ผู้ขับขี่ควรวางแผนการทานยาให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการง่วงนอนขณะขับรถที่มีสาเหตุมาจากการทานยา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ