กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--กรุงเทพมหานคร
นายจิรวัฒน์ แพงมา ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. เปิดเผยว่าตามที่สื่อสังคมออนไลน์วิจารณ์ กทม.เพิ่มค่าปรับผู้ฝ่าฝืนขับขี่หรือจอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้าสาธารณะ จากเดิม 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท โดยมีผู้แสดงความคิดเห็น ระบุขอให้ กทม.ดำเนินการอย่างจริงจัง เข้มงวด ต่อเนื่อง ไม่เลือกปฏิบัติ และมีมาตรการป้องกันการทุจริต นั้น กทม. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เทศกิจทั้ง 50 สำนักงานเขต กวดขันผู้ฝ่าฝืนขับขี่หรือจอดรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยตั้งจุดจับปรับผู้ที่ฝ่าฝืนจากเดิม 115 จุด เพิ่มเป็นจำนวน 233 จุด ทั้งเช้าและเย็น ให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ในทุกถนนของเขต รวมทั้งมีนโยบายที่จะติดตั้งกล้อง CCTV ในถนนที่มีการกระทำความผิดจอดหรือขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้าในถนนนำร่อง 2 ถนน คือ ถนนสุขุมวิทและถนนพหลโยธิน และบางจุดที่มีกล้อง CCTV อยู่แล้ว จะปรับมุมกล้องให้จับภาพบนทางเท้าเป็นบางส่วน โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปัญหา นอกจากนี้ กทม.ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ในการขอใช้ข้อมูลทางทะเบียนรถยนต์/รถจักรยานยนต์ เพื่อให้ทราบถึงเจ้าของ/ผู้ครอบครอง ที่กระทำความผิดจอดหรือขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้า เพื่อมาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเชื่อมโยงกับกล้อง CCTV และประสาน การทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการตำรวจจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ กรมการขนส่งทางบกกับเจ้าหน้าที่เทศกิจสำนักงานเขตในการบูรณาการกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดที่ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ทั้งนี้ ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันไปแล้ว เช่น บริเวณถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 4 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หน้าห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า สี่แยกอโศกหน้าห้างสรรพสินค้าเทอมินอล และถนนลาดพร้าว ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวอีกว่า ในส่วนของช่องทางการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด มีทั้งทางโทรศัพท์แอปพลิเคชันไลน์ และเฟซบุ๊ค ซึ่งจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและเพิ่มช่องทางการแจ้งให้มากขึ้น ซึ่งประชาชนผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินรางวัลร้อยละ 50 ของค่าปรับส่วนการยึดใบขับขี่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่จะประสานกับกรมการขนส่งทางบกและเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ เพื่อดำเนินการร่วมกัน ส่วนกรณีรถที่ใช้ในการกระทำความผิดพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถนำมาไว้ ที่สำนักงานเขตได้ เพื่อรอการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย สำหรับการเพิ่มอัตราค่าปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ จาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท สามารถดำเนินการได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ปรับได้ไม่เกิน 5,000 บาทกับผู้ที่กระทำความผิดจอดหรือขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้าสาธารณะ
สาเหตุการเพิ่มค่าปรับสืบเนื่องจากยังมีผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดอยู่แม้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้มงวดกวดขันและเพิ่มจุดจับปรับให้มากขึ้นหรือมีช่องทางการแจ้งเบาะแสจากประชาชนก็ตาม ทั้งนี้ กทม.จะควบคุมอย่างใกล้ชิดไม่ให้มีการทุจริตในเรื่องค่าปรับโดยเด็ดขาด