กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--กองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน เดินหน้าเพิ่มผลิตภาพแรงงานกว่าหมื่นห้าพันคน สร้างนักพัฒน์พันธุ์ใหม่ลงพื้นที่ช่วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน SME
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ได้ขับเคลื่อนโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ SME 4.0 โดยเน้นพัฒนากำลังคนในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ขยายบริการภาครัฐเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ให้แก่ผู้ประกอบกิจการ SME กลุ่ม OTOP วิสาหกิจชุมชน สร้างความเข้มแข็งกับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ จะสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และนโยบายของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเน้นเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงาน เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม เศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้แนวทาง STEM Workforce พัฒนาบุคลากรด้านแรงงานให้มีทักษะที่หลากหลาย (Multi Skill) ลดการสูญเสียในวงจรการผลิตหรือบริการ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหลัก
นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่าในช่วง 6 ปีแรก (2556-2561) มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการถึง 1,103 แห่ง พัฒนาพนักงานในวิสาหกิจชุมชนจำนวน 85,482 คน ส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดการสูญเสียในวงจรการผลิต คิดเป็นมูลค่า 5,450 ล้าบาท สำหรับในปี 2562 มีวิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมโครงการถึง 332 แห่ง มีเป้าหมายดำเนินการ 15,420 คน ฝึกอบรมแล้ว 14,891 คน ความสำเร็จของโครงการส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของกพร ให้เป็นนักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่ กว่า 300 คนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำปรึกษาแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งนักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่จะได้ฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคนิคการจูงใจ เทคนิคการวิเคราะห์งาน เทคนิคการให้คำปรึกษาเชิงลึก การวัดค่าผลิตภาพแรงงาน และการคำนวณค่าทางสถิติเป็นตัวเงิน
นายถวัลย์ น้อยอุทัย นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงานชำนาญการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 15 พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในนักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่ของกพร. มีโอกาสให้คำแนะนำปรึกษาแก่กลุ่มอรัญญิกวินัยรวยเจริญ ที่ผลิตเครื่องมือเกษตรและมีดทำครัวจำหน่ายในตลาดอรัญญิก ซึ่งกระบวนการผลิตได้แนะนำประยุกต์ใช้แนวทางวิศวกรรม โดยได้ทำการออกแบบจิ๊กและฟิกซ์เจอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือพิเศษที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยในการกำหนดตำแหน่ง จับยึดมีด ก่อนเข้าร่วมโครงการการเจียระไนมีดใช้เวลา 4 นาทีต่อ 1เล่ม 1 วัน ผลิตได้ 120 ชิ้น แต่หลังจากปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวลดลงเหลือ 3 นาทีต่อ 1 เล่ม 1 วัน ผลิตได้ 153 ชิ้น เพิ่มขึ้น 33 ชิ้น คิดเป็น 27.15 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยในการทำงาน ด้วยการใช้สวิทซ์ตัดไฟอัตโนมัติ ในการตัดต่ออุปกรณ์ เจียระไนมีด ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลง ซึ่งสมาชิกสามารถต่อยอดแนวคิดด้านกระบวนการผลิต เทคโนโลยี การตลาด สร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มต่อไปในอนาคต สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการในปี 2563 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 หรือ 0 2245 4406