กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--กบข.
นางอมฤดา สุวรรณจินดา ผู้ช่วยเลขาธิการสายสมาชิกสัมพันธ์และกิจกรรมสาธารณะ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่าแนวทางหนึ่งในการพัฒนาและบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพ คืองานด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งล่าสุด กบข. ได้มีการจัดทำโครงการวิจัยนำร่องเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อวิถีชีวิตของประชากรกับทิศทางการออมในอนาคต โดยเริ่มต้นเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างสมาชิก กบข.ทั้ง 12 ประเภท โดยใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างสมาชิกจำนวน 2,961 ราย ที่มีสมมติฐานกลุ่มประชากรต่างรุ่น 3 กลุ่มที่มีภาวะแวดล้อมด้านโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจและสังคมต่างกัน ซึ่งวัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต พฤติกรรมและทัศนคติ ด้านการใช้จ่าย การเก็บออม การวางแผนการเกษียณอายุ และความคาดหวังที่จะได้รับการเกื้อหนุนเมื่อเกษียณอายุ
ทั้งนี้ ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างเพศหญิงส่วนใหญ่มีการวางแผนเรื่องการจัดสรรเงินออมเพื่อการเกษียณมากกว่ากลุ่มตัวอย่างเพศชายนอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากจะมีการวางแผนเรื่องการจัดสรรเงินออมเพื่อการเกษียณมากกว่ากล่มตัวอย่างที่มีอายุน้อย เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวและเห็นว่าตนเองมีรายได้น้อย ต้องจัดสรรเงินไปใช้เรื่องอื่นๆ ที่สำคัญกว่า
สำหรับเป้าหมายหลักของผู้ที่มีเงินออม คือ การออมเพื่อการศึกษาของบุตร รองลงมาคือการออมเพื่อเกษียณอายุ นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างคิดจะพึ่งพาตนเองมากกว่าจะหวังพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือลูกหลาน รวมทั้งผู้ตอบหญิงมักเลือกวิธีการลงทุนที่คิดว่าน่าจะเสี่ยงน้อยกว่า เช่น การฝากประจำ การซื้อทองรูปพรรณ การทำประกันชีวิต และที่สำคัญกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเครื่องมือในการลงทุน ระยะเวลาที่เหมาะสม ระดับความเสี่ยง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยครั้งนี้นำมาซึ่งข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เช่น ด้วยการจัดให้มีการให้ความรู้สมาชิกทั้งภาพกว้างและเชิงลึกเกี่ยวกับการออม การวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุ การลงทุนด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม มาตรการสร้างแรงจูงใจให้มีการออมเพิ่ม การให้หนุ่มสาวเล็งเห็นความสำคัญตั้งแต่วัยหนุ่มสาว มาตรการให้ความรู้ประกอบการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลมากกว่าความเชื่อ และต้องการให้มีความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนแต่ละประเภท
นอกจากนี้ การวิจัยครั้งนี้ ยังให้ผลการศึกษาที่น่าสนใจหลายประเด็นสำหรับกองทุนนำไปพิจารณาเพื่อกำหนดแผนดำเนินงานด้านการส่งเสริมการออม และการลงทุนของสมาชิกเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเมื่อถึงวัยเกษียณอายุ และพิจารณาสร้างมาตรการรองรับอื่นๆ เมื่อสังคมไทยในอนาคตจะมีจำนวนประชากรสูงอายุมากขึ้น