กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--IR PLUS
"เจ เวนเจอร์ส" ประกาศลั่น แผนพัฒนาระบบ JFIN DDLP แล้วเสร็จก่อนกำหนด ดีเดย์ใช้งาน 7 สิงหาคมนี้ บนแพลตฟอร์ม "ป๋า มาร์เก็ตเพลส" ที่ปรับโฉมรองรับการกู้ในรูปแบบฟินเทค โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาสนับสนุน "ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์" ซีอีโอ เผย ความสำเร็จนี้เป็นแค่ก้าวแรก เรายังเปิดตัวสินเชื่อรูปแบบใหม่ B2P (Business to Person) ในชื่อ "J Loan Lite" หวังสร้างประสบการณ์การกู้เงินผ่านดิจิทัลในประเทศไทย ให้ใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และฟังก์ชั่น "J Score" ระบบการพิจารณาอนุมัติการปล่อยสินเชื่อ เป็นครั้งแรกที่รวมเอา Credit Scoring ซึ่งเรียนรู้ด้วยข้อมูลมาตรฐานจากกลุ่มบริษัทเจมาร์ท และ Social Scoring ข้อมูลในโลกเทคโนโลยียุค 4.0 ผนวกกับข้อมูลพฤติกรรมตามหลักจิตวิทยา มาวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่ออนุมัติการปล่อยสินเชื่อให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ และแอปพลิเคชันทางด้านฟินเทค (Fintech) และลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) เป็นบริษัทในกลุ่ม
เจมาร์ท เปิดเผยว่า แผนการพัฒนาระบบสินเชื่อแบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง JFIN DDLP (Decentralized Digital Lending Platform) บนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาตรฐานโลก แล้วเสร็จและพร้อมใช้งานแล้ววันนี้ เปิดตัว 7 สิงหาคม 2562 เร็วกว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้ในเดือนตุลาคม
พร้อมปรับโฉม พัฒนาแพลตฟอร์ม "ป๋า มาร์เก็ตเพลส" (PAH Marketplace) ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น รองรับผลิตภัณฑ์การกู้ยืมในรูปแบบฟินเทคหลากหลายประเภท ทั้งจาก JVC และพันธมิตร รวมทั้ง เปิดตัวสินเชื่อรูปแบบใหม่ ในชื่อ "J Loan Lite" เป็นสินเชื่อรูปแบบ B2P หรือ Business to Person โดย JVC ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ร่วมมือกับ บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ในฐานะผู้ให้สินเชื่อ พิจารณาและอนุมัติการปล่อยสินเชื่อให้แก่บุคคลทั่วไป ผ่านระบบออนไลน์ และไม่ผ่านตัวกลาง เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก รวดเร็ว ด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 15% ต่อปี และค่าธรรมเนียมการกู้ที่ต้องจ่ายให้แพลตฟอร์ม 30 บาท มีจุดเด่นในเรื่องความน่าเชื่อถือ โปร่งใส เป็นแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัย เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า
สำหรับกลไกการทำงาน ระบบหลังบ้านของ "J Loan Lite" มี 4 ฟังก์ชั่นสำคัญ ได้แก่ ลำดับแรกการยืนยันตัวตนที่ได้มาตรฐาน (KYC) ลำดับต่อมา การพิจารณาวงเงินและอนุมัติสินเชื่อ ผ่านฟังก์ชั่น "J Score" ที่บริษัทฯ เป็นผู้พัฒนาเอง และเป็นหัวใจหลักในการนำระบบ Credit Scoring ซึ่งเรียนรู้ด้วยข้อมูลมาตรฐานจากกลุ่มบริษัทเจมาร์ท และการใช้ Social Scoring ข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ต ผนวกกับข้อมูลพฤติกรรมตามหลักจิตวิทยา มารวบรวมวิเคราะห์ เพื่อวัดหา "คนดี" ทำให้ภายใต้ระบบดังกล่าว มีการประเมินลูกค้าที่เข้ามาขอสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่นำเอา Social Scoring ผนวกกับข้อมูลพฤติกรรมตามหลักจิตวิทยา เข้ามาใช้ในการอนุมัติการขอสินเชื่ออย่างเป็นรูปธรรม จากนั้น เมื่ออนุมัติสินเชื่อผ่านตามเกณฑ์แล้ว จะทำการโอนเงินผ่านดิจิทัล (Digital Payment) และมีการเก็บข้อมูลบนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)
"จากสถิติประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงระบบเงินกู้ผ่านสถาบันการเงินได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ เจ เวนเจอร์ส เชื่อว่า กลุ่มคนเหล่านั้นมีศักยภาพในการกู้ยืม และมีความสามารถในการผ่อนชำระ ซึ่งเราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า คนดี โดยเราได้นำข้อมูลในโลก 4.0 ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพฤติกรรมด้านการใช้ชีวิต สังคม ทัศนคติ รวมถึงข้อมูลเชิงจิตวิทยา นำมารวบรวมเพื่อทำการวิเคราะห์ โดยใช้เทคโนโลยี เพื่อให้เป็น "คะแนนคนดี" เข้ากับระบบ Credit Scoring ตามมาตรฐาน ในชื่อ "J Score" เพื่อให้กลุ่มคนดังกล่าวสามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มป๋า มาร์เก็ตเพลสของเรา"
สำหรับ แผนการพัฒนาระบบสินเชื่อแบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง JFIN พัฒนาโดย Blockchain มาตรฐานโลก ด้วย "Corda R3" ร่วมกับพาร์ทเนอร์ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนในหลายหน่วยงาน
ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พร้อมฟังก์ชั่นการทำงานที่จะให้ผู้ถือ JFIN ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกู้ยืม (Stake Reward) จะทำให้ผู้ถือโทเคนดิจิทัล JFIN สามารถนำเหรียญมาฝากเป็น Stake และได้ผลตอบแทนจากส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมในการใช้งานแพลตฟอร์มป๋าได้
"JVC ออกโทเคนดิจิทัล JFIN ขึ้นมา นำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาพัฒนาระบบ DDLP ได้แล้วเสร็จตามโรดแมปที่วางไว้ โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการเปิดตัวแพลตฟอร์มต่างๆ มากมาย ทั้ง ป๋า.com และ JFIN Cryptocurrency Wallet แรกของประเทศ จากนั้น เราได้นำโทเคนมาใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ นำมาแลกสินค้าในกลุ่มเจมาร์ท และใช้ประมูลสินค้า รวมถึง ความตั้งใจในการพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จ และสามารถใช้งานได้จริงก่อนกำหนดการที่วางไว้ในเดือนตุลาคม เพื่อปล่อยกู้ในรูปแบบฟินเทค โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีความน่าเชื่อถือ และคล่องตัวสูง นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จ ในความมุ่งมั่นนำโทเคนดิจิทัลมาใช้ได้จริงในเชิงเศรษฐกิจ (Tokenomics) และเตรียมพร้อมโลกแห่งเทคโนโลยีในอนาคต" นายธนวัฒน์ กล่าว