กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--โฟร์ฮันเดรท
SACICT สานต่องาน "SACICT Mobile Gallery 2019" ครั้งที่ 3
ชมนิทรรศการถ่ายทอดการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมในอาเซียน
พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่ การสืบค้นข้อมูลงานศิลปหัตกรรมบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICTเชิญชวนชาวไทยร่วมสัมผัสงานหัตถศิลป์จากภูมิปัญญาอันล้ำค่าในงาน "SACICT Mobile Gallery 2019" ภายใต้แนวคิด "Sense of Siam : สืบสานมรดกแห่งภูมิปัญญา สัมผัสงานหัตถศิลป์อันล้ำค่าของแผ่นดิน" ที่จะมาถ่ายทอดคุณค่าแห่งมรดกภูมิปัญญาของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ผ่านชิ้นงานหัตถศิลป์และนวัตศิลป์จาก หอนิทรรศการของ SACICT รวมถึงงานศิลปหัตถกรรมที่เชื่อมโยงความร่วมมือในอาเซียน พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่ในการสืบค้นข้อมูลงานศิลปหัตกรรมบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม (SACICT Archive) เชิญผู้สนใจร่วมสัมผัสศิลปหัตถกรรม ณ โถงอาคารสำนักงาน ชั้น G อาคารจัตุรัสจามจุรี ระหว่างวันที่ 5 - 9 สิงหาคม 2562 นี้
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เป็นองค์กรของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวมองค์ความรู้ อนุรักษ์ สืบสาน คุณค่าแห่งหัตถศิลป์ไทย และมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาอย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนให้งานหัตถศิลป์ไทยมีความร่วมสมัย สามารถประยุกต์เป็นหนึ่งเดียวกับการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมไทย ภายใต้แนวคิด Today Life's Craft ตลอดจนยกระดับคุณค่าแห่งงานหัตถศิลป์ไทย ให้ได้รับการต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่ตลาดระดับสากล ภายใต้กลไกการทำงานเชิงรุก และปรากฏผลตอบแทนอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ SACICT จึงได้จัดกิจกรรม "SACICT Mobile Gallery 2019" เป็นการจำลองหอนิทรรศการผลงานศิลปหัตถกรรมของ SACICT ออกสู่สาธารณะ ภายใต้แนวคิด "Sense of Siam : สืบสานมรดกแห่งภูมิปัญญา สัมผัสงานหัตถศิลป์อันล้ำค่าของแผ่นดิน" เพื่อสะท้อนคุณค่าแห่งภูมิปัญญาของ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ผ่านงานหัตถศิลป์และนวัตศิลป์หลากรูปแบบซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสายธารแห่งพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการวางรากฐานงานศิลปาชีพให้เจริญงอกงามทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงผู้ที่สนใจและรักในงานศิลปหัตถกรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้สัมผัสองค์ความรู้แห่งภูมิปัญญาไทย มีโอกาสชื่นชมผลงานศิลปหัตถกรรมของ SACICT อย่างใกล้ชิด
โดยงาน "SACICT Mobile Gallery 2019" ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการจัดแสดง 2 ครั้งที่ผ่านมาคือที่ไอคอนสยาม และอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งครั้งนี้นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 3 ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี ระหว่างวันที่ 5 - 9 สิงหาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น. นอกจากมีผลงานนวัตศิลป์ที่ได้รับการสร้างสรรค์จากโครงการต่างๆ ของ SACICT ยังสามารถชื่นชมผลงานการถ่ายทอดทักษะเชิงช่าง และความร่วมมือในระดับภูมิภาคผ่านงานหัตถศิลป์โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม (Cross Cultural Crafts) พร้อมทดลองสืบค้นข้อมูลงานศิลปหัตกรรมบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม (SACICT Archive) และหนังสือองค์ความรู้ต่างๆ ที่ SACICT รวบรวมมาให้ทุกคนได้ศึกษาในงานนี้อีกด้วย
นางอัมพวัน พิชาลัย กล่าวต่ออีกว่า SACICT ได้ยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรม (SACICT Arts & Crafts Hub) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง SACICT เตรียมเปิดตัว ระบบ SACICT Archive ระบบสืบค้นข้อมูลงานหัตถกรรม หนึ่งกลไกสำคัญในการร่วมรักษาและต่อยอดองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่สังคมอย่างยั่งยืน ที่ทาง SACICT มุ่งมั่นดำเนินการมาตลอดระยะเวลาการทำงาน 4 ปี
"SACICT Archive" เป็นการพัฒนารูปการศึกษาค้นคว้าข้อมูลงานศิลปหัตถกรรมบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลของงานหัตถศิลป์ งานนวัตศิลป์ ที่ได้รับการออกแบบและสร้างสรรค์โดย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และนักออกแบบ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้จากแหล่งเรียนรู้และชุมชนหัตถกรรม ที่มีคุณค่าต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และอ้างอิงในเชิงประวัติศาสตร์ ตลอดจนสื่อหนังสือและสื่อวีดิทัศน์ที่ SACICT ได้จัดทำเพื่อบริการองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมแก่สังคม ให้ประชาชนทั่วไป สามารถสืบค้นข้อมูลได้จากทุกมุมโลก
โดย "SACICT Archive" ให้บริการข้อมูล และองค์ความรู้ใน 5 หมวดหมู่ด้วยกันคือ ครู และทายาทฯ หัตถศิลป์ไทย นวัตศิลป์ไทย ชุมชนหัตถกรรม/พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และสื่อสิ่งพิมพ์/วีดิทัศน์ เพื่อส่งเสริมให้องค์ความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคล ในกระบวนการ และในชิ้นงานศิลปหัตถกรรม เป็นจุดเริ่มต้นของพลังสร้างสรรค์ให้งานศิลปหัตถกรรมไทยได้รับการศึกษา การสร้างคุณค่าแก่ผลงานหัตถศิลป์ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ งานออกแบบ งานด้านวิชาการ รวมไปถึงการคิดค้นนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาต่อยอดเชิงพาณิชย์ นับเป็นการนำองค์ความรู้เข้าไปเสริมความแข็งแกร่งแก่งานศิลปหัตถกรรมไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ"
SACICT Archive จึงเป็นการวางระบบและฐานข้อมูลตามยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการให้มีการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูล Big Data ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกในหลากหลายมิติ ทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงศิลปหัตถกรรมอย่างรอบด้าน สามารถนำ Data Analytic ไปต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้สนใจสามารถร่วมสัมผัสกับกิจกรรม SACICT Mobile Gallery 2019 ครั้งที่ 3 จะจัดแสดง ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี ระหว่างวันที่ 5 - 9 สิงหาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sacict.or.th , Facebook Page : ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) www.facebook.com/sacict และ SACICT Call Center : 1289