กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า รอบนี้ที่กนง.ลดดอกเบี้ยจาก 1.75% เหลือ 1.50% นับว่าเหนือความคาดหมายที่ลดเร็วกว่าคาดการณ์ ก่อนหน้านี้เรามองว่ากนง.จะลดดอกเบี้ยแต่น่าจะลดปลายปี แต่รอบนี้ลดเร็วกว่าที่คาด และไม่ได้มีการส่งสัญญาณก่อนหน้า เดิมทีก่อนแบงก์ชาติจะทำอะไรมักจะเห็นเสียงแตกของกนง. เช่น จากมติ 7-0 ที่คงดอกเบี้ยในการประชุมรอบก่อนหน้า น่าจะออกผลด้วยมติ 6-1 หรือ 5-2 ก่อน แต่กลับมีการลดดอกเบี้ยในรอบนี้เลย โดยให้เหตุผลว่ามาจากความเสี่ยงที่มากขึ้น และจากเศรษฐกิจที่ชะลอ
สำหรับเหตุผลของการลดดอกเบี้ยมี 3 เหตุผลหลักๆ ก่อนหน้านี้เคยพูดไว้ว่า แบงก์ชาติมีความอดทนสูง 3 ด้าน วันนี้ แบงก์ชาติน่าจะมีความอดทนน้อยลงใน 3 ด้าน หรือไม่ทนอีกต่อไปแล้ว ได้แก่
1. ไม่ทนต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่ำกว่าคาด ตัวเลขล่าสุดเดือนมิ.ย.ที่การรายงานเศรษฐกิจรายเดือนออกไป สะท้อนภาพว่าเศรษฐกิจชะลอจากภาคการส่งออกและกำลังลามมาสู่ภาคในประเทศ และเชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะโตต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ก่อนหน้า เราคิดว่าจะโตสัก 2.5% แต่จะต่ำแค่ไหนก็ต้องมาจับตาดู ที่น่ามองต่อไปคือเราคิดว่าเศรษฐกิจที่ชะลอในครึ่งแรก เป็นปัจจัยชั่วคราวที่ น่าจะไปฟื้นครึ่งหลัง แต่หลังจากสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังมีการขึ้นภาษีจากปธน.ทรัมป์ต่อจีนในสินค้านำเข้า 3 แสนล้าน ขึ้นมาอีก 10% น่าจะสะท้อนว่าเศรษฐกิจในอนาคตไม่ดี ตรงนี้น่าจะเป็นจุดพลิกผันที่ว่าแบงก์ชาติไม่ทนต่อไปแล้วกับเศรษฐกิจที่จะชะลอ การส่งออกคาดว่าจะย่ำแย่ต่อเนื่องแล้วก็ลามมาสู่เศรษฐกิจในประเทศไทย
2. แบงก์ชาติไม่ทนต่อเงินเฟ้อต่ำ เพราะเงินเฟ้อเดือนล่าสุดหลุดกรอบล่างที่ 1% อีกแล้ว และก็มองต่อไปข้างหน้าราคาพลังงานที่ลดลง แล้วก็ลามมาสู่อุปสงค์ในประเทศที่ดูเหมือนชะลอ กำลังซื้อเองอาจจะไม่ค่อยมีมากนัก อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่แบงก์ชาติอาจจะมีการลดดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้ แต่ผมไม่ได้ให้น้ำหนักมากเท่าประเด็นแรก
น่าจับตาประเด็นที่ 3 ที่แบงก์ชาติไม่ทนต่อไปแล้วสำหรับบาทที่แข็งค่า วันนี้ ค่าบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคและออกข่าวต่างประเทศหลายวันว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาบาทแข็งจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง แม้ว่าส่งออกจะย่ำแย่แต่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ที่สำคัญก็คือ เมื่อจีนชะลอแต่เราไม่ได้อยู่ในซัพพลายเชนหรือผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หรือภาคการส่งออกมากนัก ทำให้บาทเองเป็นที่พักของนักลงทุนต่างชาติ บาทแข็งแรงแล้วกระทบความสามารถในการแข่งขันผู้ส่งออก ย้อนกลับมาเรื่องของเศรษฐกิจที่ชะลอและเงินเฟ้อต่ำได้ เพราะฉะนั้นมองต่อไป เศรษฐกิจวันนี้อยู่ในช่วงของการชะลอ แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 5-2 วันนี้หวังผล กระตุ้นเศรษฐกิจและดึงเงินเฟ้อให้ขยับดีขึ้น
"ผมเชื่อว่าวันนี้เป็นการประกาศสมครามค่าเงินอีกรูปแบบหนึ่งที่เราเองต้องกระโจนเข้ามาหลังจากที่วันนี้เองแบงก์ชาตินิวซีแลนด์ลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติอินเดียก็ลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติของไทยก็ต้องเข้ามาร่วมวงด้วยเป็นการเข้ามาพร้อมกันทีเดียวในภูมิภาคนี้เพื่อเปิดศึกสงคราม ที่สำคัญคือ เพื่อดึงให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ให้ชะลอมากไปกว่านี้ แต่วันนี้ต้องมองต่อ แบงก์ชาติเพิ่งขึ้นดอกเบี้ยไปเดือนธันวาคม แล้วกลับมาลดเหลือ 1.5% อยากให้เราถาม คำถามแบงก์ชาติ 2 ข้อครับ 1. แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยต่อไหม ลดต่อในปีนี้หรือปีหน้า 2. สิ่งที่แบงก์ชาติกังวลไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพ เศรษฐกิจเรื่องของหนี้ครัวเรือนสูง คนลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเกินตัว แบงก์ชาติยังห่วงอยู่ไหม ผมว่า 2 คำถามนี้เป็นคำถามที่ต้องตีให้แตกและมองต่อ"
คำถามแรก แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยต่อไหม ผมเชื่อว่าลดครับ เมื่อเปิดประตูดอกเบี้ยขาลงแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะลดต่อ และเชื่อว่าจะพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก จีดีพีไตรมาส2 ที่จะรายงานกลางเดือนนี้ ถ้าออกมาแย่ เป็นไปได้ที่กนง.จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งกันยายนนี้ หรืออาจจะรอต่อไป คือรอจีดีพีไตรมาส3 ที่จะรายงานในเดือนพ.ย.แล้วลดดอกเบี้ยอีกครั้งเดือนธันวาคมก็ยังไม่สาย
คำถามสอง สิ่งที่แบงก์ชาติเป็นห่วงยังห่วงอยู่ไหม ห่วงครับ ใน statement ผมเชื่อว่าความกังวลของแบงก์ชาติยังมีอยู่ สำหรับเรื่องดอกเบี้ยที่ลดลงแล้วจะกระทบกับหนี้ครัวเรือนที่สูง กระทบต่อเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน แล้วที่สำคัญ เขาห่วงเรื่อง policy space ว่าถ้าเกิดวิกฤตในอนาคตแบงก์ชาติจะไม่เหลือเครื่องมือใดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นตรงนี้เองต้องจับตาดูว่าแบงก์ชาติอาจจะใช้เครื่องมืออื่น นอกจากดอกเบี้ย เพื่อประคองเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน ออกมาตรการ LTV ไปแล้ว อาจจะดูเรื่อง DSR เกณฑ์วัดในการปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้า เป็นปัจจัยที่น่าติดตามกันต่อไป
โดยสรุป มองไปข้างหน้า การลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ คงเหมือนการที่แบงก์ชาติไม่ขอทนต่อไปแล้วสำหรับสงครามการค้าที่ลามมาสู่สงครามค่าเงิน ที่ไทยเป็นเหยื่อของภาคการส่งออกที่ย่ำแย่ และจากเงินบาทที่แข็งค่า แต่การลดดอกเบี้ยนี้ คงมีผลไม่มากที่จะทำให้สินเชื่อเติบโตจนพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะทางธปท. คงห่วงเรื่องเสถียรภาพตลาดเงินอยู่ และยังไม่หย่อนเกณฑ์ในการกำกับธนาคารพาณิชย์ ผมจึงหวังว่า ทางรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้น และกระจายตัวไปสู่ระดับ SME และฐานรากของประเทศ