กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนาในหัวข้อ Towards the Sustainable Finance & Investment in Thailand มีผู้เข้าร่วมฟังกว่า 300 คนและมียอดเข้าชมผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์กว่า 3,000 ครั้ง โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากในและต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการส่งเสริมการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน แก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมสิ่งแวดล้อม
ผู้ร่วมสัมมนาได้กล่าวถึงความสำคัญของตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน อาทิ Green Bond Social Bond และ Sustainability Bond ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก ในปี 2561 ที่มีส่วนช่วยพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และช่วยให้กิจการที่ใส่ใจในเรื่องดังกล่าวเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนในการสัมมนาที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ซึ่งมีนางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวเปิดงาน โดยสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้
ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ขณะนี้กลายเป็นปัญหาหลักอันดับต้นของโลกรวมถึงไทยด้วย จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันแก้ไข เช่น ปัญหาเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรรวมทั้งเกษตรกรขาดที่ดินทำกิน หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาอาจก่อให้เกิดวิกฤติน้ำหรือมหาอุทกภัยดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ทั้งนี้ ทั่วโลกมีความตื่นตัว และพบว่ามีโครงการจำนวนมากที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ต้องการแหล่งเงินสนับสนุน
การระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการต่าง ๆ ที่รณรงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือ "ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน" ที่พบในต่างประเทศนั้นเป็นประโยชน์ในภาพรวมต่อทั้งระบบ โดยผู้ออกสามารถกระจายฐานผู้ลงทุนที่กว้างขึ้น สภาพคล่องในตลาดรองตราสารดังกล่าวจึงมักดีกว่าตราสารหนี้ปกติทำให้ได้ราคาที่ดี นอกจากนี้ กิจการยังสามารถนำกลยุทธ์ Environmental Social and Governance (ESG)มาปรับใช้ในธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังมีความท้าทายในบางประเด็นเกี่ยวกับการเตรียมข้อมูลเพื่อติดตามและรายงาน ในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง จีน และสิงคโปร์ มีการให้สนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
ในระยะถัดไป "ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน" มีแนวโน้มที่จะพัฒนาจากตลาดที่มีความเฉพาะตัว (niche) กลายเป็นตลาดกระแสหลัก (mainstream) โดยทั่วโลกมีอัตราเติบโตต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี และจะต่อเนื่องต่อไป สำหรับไทย ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอีกมากที่ต้องการแหล่งเงิน ซึ่งการออก "ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน" สามารถตอบโจทย์เนื่องจากโครงการมักมีระยะยาวและสามารถกำหนดต้นทุนดอกเบี้ยในระยะยาวได้ อีกทั้งยังสามารถเลือกอายุของตราสารหนี้ให้สอดคล้องกับอายุของโครงการและออกได้หลายรุ่นตามระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน
ที่ผ่านมา มีผู้ออกเสนอขายตราสารดังกล่าวของไทยรวม 4 ราย ซึ่งมีมูลค่าการระดมทุนรวมกว่า 23,000 ล้านบาท โดยในกรณีล่าสุดได้รับการตอบรับที่ดี มีความต้องการซื้อตราสารมากกว่าที่ออกจำหน่ายถึงกว่า 8 เท่า สามารถกระจายฐานผู้ลงทุนกลุ่มใหม่ และประหยัดต้นทุนในการออกตราสารได้
อย่างไรก็ดี การผลักดันให้เกิดความสำเร็จอย่างแท้จริง ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ และออกมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ที่จะช่วยลดภาระให้กับผู้ออกการกระตุ้นบทบาทของผู้ลงทุนสถาบันให้ตระหนักถึงประโยชน์ของการลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตและค่ายื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (filing) จนถึง 31 พฤษภาคม 2563
การสัมมนาในครั้งนี้ มีวิทยากรที่มีชื่อเสียง อาทิ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน Mr. Mushtaq Kapasi, Managing Director, Chief Representative, Asia Pacific International Capital Market Association (ICMA)นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บีทีเอส กรุ๊ปฯ ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และนางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นผู้ดำเนินรายการ