กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--Rippleeffect
ททท. สำนักงานสตอกโฮล์ม นำร่องนำ ๒๔ สตาร์ทอัพไทย เป็นแนวหน้ารุกตลาดนอร์ดิกแบบคุณภาพด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ภายใต้โครงการ Bringing the New Shades of Thailand to Nordics Travelers มั่นใจช่วยเปิดมุมมองใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยว เดินหน้าเฟสแรกตุลาคม ๒๕๖๒ มั่นใจกระตุ้นค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวกลุ่ม Revisit
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ททท. ได้จัดทำโครงการ Bringing the New Shades of Thailand to Nordic Travelers โดยคัดเลือกผู้ประกอบการ กลุ่มสตาร์ทอัพ จำนวน ๒๔ ราย เป็นทีมนำร่องในการทำตลาดในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ซึ่งประกอบด้วยประเทศสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และฟินแลนด์ โดยกล่าวว่า ในระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการสตาร์อัพไทยที่ประสงค์จะขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศนอร์ดิกร่วมกับ ททท. โดยมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมการคัดเลือกทั้งสิ้น ๙๒ ราย และ ททท. ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพรวม ๒๔ ราย ครอบคลุมสินค้าและบริการในรูปแบบต่างๆ ทั้งไลฟ์สไตล์ อาหาร สปาและเวลเนส กีฬา การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ การท่องเที่ยวเพื่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และบริการรับจองแบบ one stop services
ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ นอกจากจะดูจากศักยภาพของผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว ยังได้มีการพิจารณาเรื่องของนวัตกรรม ความคิดริเริ่ม และสำคัญที่สุดคือการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการในการนำเสนอมุมมองใหม่ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนอร์ดิกอย่างตรงจุด
"นักท่องเที่ยวนอร์ดิกเป็นกลุ่มตลาดศักยภาพของยุโรปเหนือ แม้ว่าจะมีจำนวนประชากรจำนวน ไม่มากเพียง ๒๖.๕ ล้านคน แต่ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเหล่านี้เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากกว่า ๗ แสนคนในแต่ละปี ทำรายได้กว่า ๖๔,๐๐๐ ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนีซึ่งมีประชากรประมาณ ๘๑ ล้านคน หรือ สหราชอาณาจักรซึ่งมีประชากรราว ๖๕ ล้านคน แต่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยประมาณ ๘-๙ แสนคนต่อปี
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวนอร์ดิกส่วนใหญ่รู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี อีกทั้งมีระยะเวลาพำนักในประเทศไทยนานกว่า ๒ สัปดาห์ จึงคาดหวังว่าสินค้าและบริการมุมมองใหม่นี้จะเป็นทางเลือก ในการสร้างประสบการณ์ที่ดี และเพิ่มการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้อีกราวร้อยละ ๕-๑๐ จากเดิมซึ่งมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปประมาณ ๘๗,๔๕๒ บาท นอกจากนี้ยังมีสตาร์ทอัพที่สนใจพัฒนาบริการของตนเพื่อกระจายนักท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองรองตามนโยบายของ ททท. ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเอง โดยเฉพาะกลุ่ม Revisit ที่ต้องการเดินทางไปในสถานที่ใหม่ๆ หรือหาประสบการณ์ใหม่ๆ
สำหรับการดำเนินงานในขั้นต่อไป ททท.จะมีการ Coaching เพื่อติดอาวุธทางการตลาด และนำกลุ่มสตาร์ทอัพดังกล่าวเข้าสู่ตลาด เน้นการทำตลาดออนไลน์และดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึงและครอบคลุม โครงการนี้นอกจากจะเป็นการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสในการขยายธุรกิจให้กลุ่มสตาร์ทอัพซึ่งจะทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการบุกตลาดร่วมกับ ททท. ซึ่งจะเป็นการสร้างรากฐานที่ยั่งยืนสำหรับตลาดนอร์ดิกต่อไป" นายยุทธศักดิ์ กล่าว