กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง
เพราะอาการที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มต้นนั้นแทบจะไม่มีอาการบ่งบอกได้เลย หรือดูจะไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็งรังไข่เลย เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ กินนิดเดียวก็รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง หรือมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก เบื่ออาหาร น้ำหนักขึ้นหรือลดลงโดยไม่มีสาเหตุ ปัสสาวะบ่อย
อาการต่างๆ เหล่านี้ทำให้หลายคนไม่คิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็งรังไข่ได้ กว่าจะพบก็อยู่ในระยะลุกลามไปแล้ว คือ คลำพบก้อนเนื้อบริเวณท้องน้อย เริ่มมีอาการปวดท้อง หรือมีน้ำในช่องท้อง ซึ่งอาจทำให้ยากต่อการรักษาและต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรดูแลสุขภาพให้ดี หมั่นสำรวจร่างกายหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองสม่ำเสมอ และควรเข้ารับการตรวจภายใน ตรวจอัลตร้าซาวด์ และพบสูตินารีแพทย์เป็นประจำทุกปี
มดลูกและรังไข่เป็นสิ่งที่อยู่ลึกภายใน การตรวจอัลตร้าซาวด์จึงแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การตรวจโดยผ่านทางหน้าท้อง ซึ่งแพทย์จะให้คนไข้ดื่มน้ำเปล่าแล้วกลั้นปัสสาวะเอาไว้จนในกระเพาะปัสสาวะมีปริมาณน้ำปัสสาวะมากพอ เพื่อให้สามารถมองเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนขึ้น ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ การตรวจโดยผ่านทางช่องคลอด โดยแพทย์จะทำการสอดอุปกรณ์อัลตร้าซาวด์เข้าไปทางช่องคลอด ซึ่งคนไข้อาจจะต้องนอนหงายหรือนอนตะแคงเข่าชันชิดหน้าอก หรือนอนบนขาหยั่ง ซึ่งแพทย์จะสามารถมองเห็นภาพของมดลูกและรังไข่จากจอมอนิเตอร์ได้ชัดเจน ทำให้การตรวจผ่านทางช่องคลอดนี้มีความแม่นยำกว่า