กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--สำนักงาน กปร.
นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่จอกน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 เพื่อช่วยเหลือราษฎรหมู่ที่ 3, 9 และ 11 ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุ 570,000 ลูกบาศก์เมตร แล้วเสร็จเมื่อปี 2561 ปัจจุบันสามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้จำนวน 5 หมู่บ้าน 932 ครัวเรือน และส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตร จำนวน 700 ไร่ ในช่วงฤดูฝน และ 200 ไร่ ในช่วงฤดูแล้ง ส่งผลให้เกษตรกรมีน้ำกินน้ำใช้ สามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี กล่าวในระหว่างการเยี่ยมราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ว่า เดิมพื้นที่แห่งนี้ค่อนข้างแห้งแล้ง แต่เมื่อมีน้ำแม้จะเป็นน้ำที่เก็บได้ในฤดูฝนที่ผ่านมาเพียงปีเดียวก็ตาม ซึ่งได้ประมาณ 47% ของความจุอ่าง
ทางโครงการฯ ก็ปล่อยน้ำให้ชาวบ้านใช้ได้เลย ไม่รอให้ปริมาณน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำหรือตามปริมาณความจุที่คาดการณ์ไว้ คือได้น้ำเท่าไหร่ก็ส่งน้ำให้ประชาชนเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ในการทำการเกษตรในพื้นที่
"ในวันนี้ก็ถือโอกาสมาช่วยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตือนพี่น้องเกี่ยวกับโรคหนอนกระทู้ลายจุดระบาดในแปลงปลูกข้าวโพด และโรคไวรัสใบด่างในมันสำปะหลังด้วย เพราะถามดูแล้วพี่น้องหลายคนก็ปลูกพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ และเน้นย้ำเรื่องการปลูกข้าวการทำนาว่าอย่าทิ้ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเตือนไว้แล้วว่าคนไทยต้องรับประทานข้าว เราต้องทำนาเพื่อปลูกข้าวไว้รับประทานด้วย อย่าเห็นพืชเชิงเดี่ยวบางตัวว่ามีราคาดี ตลาดดีในบางช่วง ขณะเดียวกันก็หันมาสนใจและปลูกกันมาก เมื่อเจอกับภาวะราคาตลาดโลกตกต่ำก็ลำบากกันถ้วนหน้า ฉะนั้นอย่างลืมปลูกข้าวเพราะจะได้มีกินทั้งปี แม้พืชชนิดอื่นๆ ราคาตกขายไม่ได้แต่ก็ยังมีข้าวกิน และที่สำคัญคือคนไทยรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก" นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีกล่าว
ทางด้านนายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
(สำนักงาน กปร. ) เปิดเผยว่า ต่อจากนี้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เมื่อมีน้ำแล้วก็ดูต่อว่าการประกอบอาชีพควรมีอะไรบ้าง
ส่วนงานที่เกี่ยวข้องก็จะช่วยกันขับเคลื่อน เช่น กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร เหล่านี้ก็จะเข้ามาช่วยแนะนำประชาชนต่อไป
"จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ในการบริหารจัดการน้ำ และการทำการผลิตของประชาชนในพื้นที่ ควบคู่กับการรณรงค์ให้มีการนำหญ้าแฝกมาปลูกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่อีกด้วย" เลขาธิการ กปร. กล่าว
ขณะที่นายสุทิน สุขแก้ว ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่จอกน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า ต่อไปนี้ประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ จะร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบและระเบียบ มีการแบ่งปันน้ำให้ได้ใช้กันอย่างทั่วถึง "ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะทำนาด้วยการปลูกข้าว กข.6 และ กข.10 ส่วนหนึ่งปลูกข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง และสวนส้มเขียวหวาน ในช่วงหน้าแล้งหลังนาจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่งที่พระองค์ท่านทรงรับโครงการนี้ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้การก่อสร้างแล้วเสร็จเร็ว ประชาชนในพื้นที่มีน้ำใช้ได้เร็วขึ้น ทุกคนดีใจและปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่ง" นายสุทิน สุขแก้ว กล่าว
สำหรับตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่นั้น เกิดขึ้นจากการอพยพมาย้ายถิ่นของราษฎรจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และเรียกหมู่บ้านนี้ว่าบ้านหนองไม้ ต่อมาได้มีการแพ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อทำกินเพิ่มเติมแผ่ขยายออกไปทางทิศใต้ตามฝั่งแม่น้ำยม และห่างจากหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร เพื่อทำนาและได้พบก้อนหินใหญ่เป็นผามีสีดำใหญ่ก้อนหนึ่ง มีลักษณะคล้ายนกแร้งยืนอ้าปาก ชาวบ้านจึงได้สร้างวัดขึ้นและตั้งชื่อว่าวัดท่าแร้ง กาลต่อมาอาจเป็นเพราะชาวบ้านพูดอักขระไม่ชัดเจน จึงทำให้การเขียนชื่อหมู่บ้านของผู้ไม่รู้ความหมายเดิมผิดไปจากคำว่าทุ่งแร้งเพี้ยนมาเป็นทุ่งแล้ง จนถึงปัจจุบัน
ตำบลทุ่งแล้ง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอลอง ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 18 กม. ห่างจากจังหวัดแพร่ 60 กม. มีพื้นที่ประมาณ 72,367.58 ไร่ หรือ 115,788 ตร.กม. พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา อยู่เขตป่าสงวน และมีแม่น้ำยมไหลผ่าน อาชีพหลักของ
ราษฎร คือทำนา ทอผ้า สานกระชอนเป็นอาชีพเสริม และแปรรูปส้มเขียวหวานเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน