กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
บมจ.เน็ตเบย์ หรือ NETBAY โชว์ผลการดำเนินงาน Q2/62 เติบโตโดดเด่น แม้ตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ ทำกำไรสุทธิ 45.72 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.74% รับปัจจัย ดิจิทัล บิสซิเนสบูมและกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำธุรกรรมออนไลน์บน 'ดิจิทัลแพลตฟอร์ม' เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดขั้นตอนการทำงานแบบเดิมๆ และเน็ตเบย์ช่วยยกระดับให้องค์กรธุรกิจต่างๆ ก้าวทันโลกดิจิทัล
นายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NETBAY บริษัทแห่งนวัตกรรมเทคโนโลยี (Innovative Technology Company) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2/62 ทำกำไรสุทธิทั้งสิ้น 45.72 ล้านบาท เติบโต 26.74% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีกำไรสุทธิ 36.07 ล้านบาท แม้ว่าในไตรมาสดังกล่าวบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่จำนวน 4.5 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 103.52 ล้านบาท เติบโต 15.97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี รายได้จากการให้บริการ 89.26 ล้านบาท
ปัจจัยที่ผลการดำเนินงานเติบโตได้ดีทั้งรายได้และกำไรสุทธิ มาจากความต้องการใช้บริการทำธุรกรรมทางออนไลน์ผ่านระบบ 'ดิจิทัล แพลตฟอร์ม' ที่เน็ตเบย์เป็นผู้พัฒนายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ชในยุคปัจจุบัน การทยอยปรับเปลี่ยนการทำธุรกรรมของภาคธุรกิจเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการปรับตัวขององค์กรต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่นกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการทำธุรกรรมทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องนอกจากนี้บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายการให้บริการและบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม ถึง มิถุนายน) มีอัตราเติบโตในทิศทางเดียวกัน โดยมีกำไรสุทธิ 87.82 ล้านบาท เติบโต 23.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 71.07 ล้านบาท และมีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 198.49 ล้านบาท เติบโต 12.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการให้บริการ 176.02 ล้านบาท
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NETBAY กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ได้พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยขยายแพลตฟอร์มการให้บริการธุรกรรมทางออนไลน์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับศาลแพ่ง เริ่มให้บริการระบบ Mini e-Court หรือบริการยื่นคำคู่ความผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับการฟ้องร้องคดีผู้บริโภค พร้อมพิจารณาคดีผ่านระบบ Video Call เพิ่มทางเลือกใหม่แก่ประชาชนรับยุคดิจิทัล (ปัจจุบันยังไม่คิดค่าบริการ) รวมถึงพัฒนาการให้บริการใหม่ๆเพื่อก้าวสู่การเป็น 'ดิจิทัล แพลตฟอร์ม โซลูชั่น' อย่างครบวงจรโดยเพิ่มการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ อาทิ Blockchain, AI หรือปัญญาประดิษฐ์, Data & Image Analytics-Computer Vision หรือการวิเคราะห์ข้อมูลและภาพ ฯลฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการแก่ลูกค้า