กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--สสส.
สสส. ร่วมกับเครือข่ายแผนจัดการภัยพิบัติจังหวัดน่าน มุ่งผลักดันให้เป็นจังหวัดต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคมอย่างยั่งยืน จากความพร้อมในหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดการตนเองเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ ด้วยความเป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอำเภอเวียงสาได้รับการรับรองเป็นชุมชนปลอดภัยระดับนานาชาติจากองค์การอนามัยโลก
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายแผนจัดการภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดน่าน อาทิ มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) สถาบันพัฒนาประชาสังคม สมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์ และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการเพื่อลดทอนความเสี่ยงภัยพิบัติโดยมีกลไกการทำงานของชุมชนเป็นฐาน ในอำเภอท่าวังผาและอำเภอเวียงสา ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงของการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา โดย อำเภอท่าวังผา เป็นจุดที่ลำน้ำสาขาถึง 7 สายไหลมารวมกันที่แม่น้ำน่าน ก่อนลงไปยังตอนล่างสู่ อำเภอเวียงสา ที่มีลำน้ำว้ามารวมอีกด้วย โดยในปี 2549 และ 2554 ระดับน้ำท่วมในชุมชนที่ท่าวังผาสูงถึง 5 เมตร ทำให้ชุมชนและพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 2,000 ครัวเรือน ส่วนที่เวียงสา ปี 2554 ระดับน้ำท่วมสูงถึง 7 เมตร ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 26,000 คน ใน 38 หมู่บ้าน ทั้งนี้ เครือข่ายภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดน่านได้สร้างกลไกการทำงานของชุมชนให้เป็นแกนนำในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ ตั้งแต่การสร้างความตระหนักและจิตสำนึกที่ดี การหาแนวทางและกระบวนการจัดการรวมถึงการขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วมอย่างมีขั้นตอน การบูรณาการกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยเวียงสาได้มีการบริหารจัดการเพื่อลดทอนความเสี่ยงภัยตั้งแต่ปี 2556 จนเกิดผลคือ เมื่อเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2561 มีผู้ได้รับผลกระทบ, ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ, ความเสียหายต่อสาธารณูปโภค ฯลฯ ลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับอุทกภัยปี 2554 มีมูลค่าความเสียหายราว 60 ล้านบาท ส่งผลให้อำเภอเวียงสาได้รับการรับรองเป็นชุมชนปลอดภัยระดับนานาชาติจากองค์การอนามัยโลก โดยเทศบาลตำบลกลางเวียงและเทศบาลตำบลเวียงสายังได้รับการรับรองด้านชุมชนปลอดภัย ลำดับที่ 404 และ 405 ตามลำดับ
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า "การทำงานของเครือข่ายที่เวียงสามีความเข้มแข็งด้วยพลังชุมชน ซึ่งร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ สสส. จึงส่งเสริมให้สร้างเครือข่ายทุกระดับเพื่อขยายการทำงาน ตั้งแต่ชุมชน ตำบล และอำเภอ โดยมุ่งหวังให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันกลไกชุมชนสู่จังหวัดต้นแบบที่มีการบริหารจัดการภัยพิบัติ รวมถึงการลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญและจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการให้ทางจังหวัดได้ตรงตามความต้องการของชุมชน โดยรับฟังเสียงของภาคประชาชนเจ้าของพื้นที่และเจ้าของปัญหาอย่างแท้จริง ที่ผ่านมา สสส. ได้หนุนเสริมโมเดลจังหวัดต้นแบบเช่นนี้แล้วที่จังหวัดพังงา ปทุมธานี และสกลนคร"
นายวิโรจน์ หวั่นท๊อก ประธานศูนย์ภัยพิบัติอำเภอเวียงสา และนายกเทศมนตรีตำบลเวียงสา กล่าวว่า "เราเน้นย้ำให้ชุมชนตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบของภัยพิบัติ พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนของ อบต. ทั้ง 8 แห่ง คือ กลางเวียง, ไหล่น่าน, ส้าน, ตาลชุม, ขึ่ง, น้ำปั้ว, นาเหลือง, และเวียงสา ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันสำรวจจุดเสี่ยง จัดทำแผนชุมชน และปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันทุกปี ศึกษาการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อการเข้าถึงข้อมูล วิเคราะห์ และแจ้งเตือนภัยผ่านระบบการสื่อสารของชุมชนและโซเชียลมีเดีย ตลอดจนจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมช่วยเหลือทุกพื้นที่ เช่น เรือ แพ กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ ฯลฯ โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นเครือข่ายจิตอาสาที่เชื่อมร้อยกับทุกฝ่ายเพื่อจัดระบบสนับสนุนความช่วยเหลือระหว่างกันให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในทุกกระบวนการ ทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย"
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ มีการนำเสนอแนวทางที่น่าสนใจของ 2 ชุมชนในตำบลเวียงสา ได้แก่ ชุมชนบ้านกลางเวียง มีความโดดเด่นในการเป็น "ชุมชนปฏิบัติการลดทอนความเสี่ยงภัย" ด้วยการจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาที่มีการจัดแบ่งภาระงานเป็น 13 ฝ่าย เช่น ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายป้องกันและเตรียมความพร้อม ฝ่ายเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ฝ่ายอพยพ ฝ่ายค้นหากู้ภัยและช่วยชีวิต ฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ฯลฯ ที่มีการทำงานแบบมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ ด้วยหลักคิด "4 ไม่" คือ 1) ไม่ทำไม่ได้ 2) ไม่ท้อไม่ถอย 3) ไม่นิ่งดูดาย และ 4) ไม่เห็นแก่ตัว
ส่วน ชุมชนบ้านดอนไชย มีจุดเด่นคือการร่วมกันหาแนวทางฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรที่เสียหาย โดยจัดตั้ง "กองทุนช่วยเหลือภัยพิบัติ" ที่เกิดจากการสมทบเงินของชาวบ้านเอง และเริ่มระดมทุนอย่างต่อเนื่องจากเงินทำบุญในงานต่าง ๆ รวมถึงการนำสิ่งของที่ได้รับบริจาคเกินความต้องการมาจำหน่ายในราคาถูก พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์รับบริจาคผ่านเฟซบุ๊คด้วย
ด้าน นายสง่า อินยา ผู้แทนเครือข่ายภัยพิบัติ และประธานสภาวัฒนธรรม อำเภอท่าวังผา กล่าวว่า "ที่ท่าวังผามีการจัดการเรื่องน้ำท่วมพร้อมกับพื้นที่เวียงสา แต่บางช่วงก็ขาดความต่อเนื่องเพราะขาดงบประมาณ ขาดแกนนำที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน การเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ทำให้มั่นใจว่าจะกลับไปขับเคลื่อนแผนชุมชนท่าวังผาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการกระตุ้นพลังของชุมชนให้มีความตระหนักว่าภัยพิบัติเกิดขึ้นกับตัวเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะป้องกันและช่วยเหลือตัวเอง จึงจะนำไปสู่การบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน โดยอำเภอท่าวังผามีพื้นที่ต้นแบบ "โคก หนอง นา แก้ปัญหาภัยพิบัติ" ด้วยศาสตร์พระราชา ที่ศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน ซึ่งเรามุ่งหวังว่าแนวคิดนี้จะขยายไปสู่ทุกชุมชนในอำเภอท่าวังผา และทุกอำเภอของจังหวัดน่านต่อไปในอนาคต"
การพัฒนาระบบการจัดการภัยพิบัติโดยมีชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อน เป็นเรื่องสำคัญที่ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และต้องการแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนและชุมชนในการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และลดผลกระทบจากภัยพิบัติในพื้นที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน