กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ผนึกกำลังสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เดินหน้าอบรมผู้ตรวจประเมิน (Assessor) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อกำหนดสำหรับหน่วยรับรองบุคลากร ISO/IEC 17024 เพื่อสร้างบุคลากรในการรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ และร่วมผลักดันให้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดเผยภายหลังจากการบรรยายหัวข้อ "การพัฒนาผู้ตรวจประเมินของสคช." ว่า ผู้ตรวจประเมิน คือบุคคลที่มีความสามารถซึ่งได้รับมอบหมายจากสคช.ร่วมในการตรวจประเมินองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ต้องพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการการองค์กรตัวเอง ควบคู่กับการตรวจประเมินองค์กร เพื่อชื่อเสียงในการดำเนินงานขององค์กร ดังนั้น การพัฒนาผู้ตรวจประเมินของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเป็นการพัฒนาผู้ตรวจประเมินที่มีในระบบทะเบียนของสถาบันฯมากกว่า 2,000 คน ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำหน้าที่ตรวจประเมิน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่แสดงถึงความพร้อม ความสามารถ และข้อบกพร่องที่ควรได้รับการแก้ไข ปรับปรุงการดำเนินงาน เกิดประสิทธิภาพในการรับรองสมรรถนะบุคคล ที่ผ่านมาทางสถาบันฯ ได้พัฒนากระบวนการรับรองอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับแนวทางของสถาบันฯ
ทั้งนี้ การยกระดับมาตรฐานของคน จึงเป็นจุดหมายสำคัญที่ต้องผลักดันให้สำเร็จ และเกิดผลในวงกว้าง ซึ่งสถาบันฯ ได้พัฒนากระบวนการรับรองอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐาน ISO 19011 และมาตรฐาน ISO/IEC 17024 การพัฒนาผู้ตรวจประเมิน ถือเป็นการพัฒนาให้มีกลไกการเติบโตของผู้ตรวจประเมินจากผู้ตรวจประเมินฝึกหัด เป็นผู้ตรวจประเมิน และเป็นหัวหน้าผู้ตรวจประเมินอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้หลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล แนวทางการประเมินที่วางไว้ เพื่อเพิ่มศักยภาพของการตรวจประเมิน การตรวจสอบ ระบบการดำเนินงานขององค์กรให้มีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขในการรับรอง เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ถูกต้อง โปร่งใส และมีความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ กระบวนการพัฒนากำลังคนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพจะสัมฤทธิ์ผลได้ จำเป็นต้องมีองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคล ตามมาตรฐานอาชีพที่เพียงพอและครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับกระบวนการตรวจประเมินให้เป็นที่ยอมรับโดยมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจ และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ในการให้การรับรององค์กรฯ แก่ผู้เข้ารับการอบรม อันประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบอาชีพ ในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถขั้นสูง เพื่อให้บุคลากรผู้มีความชำนาญเหล่านี้สามารถเป็นฟันเฟืองสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของสถาบันฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังให้เกิดคุณประโยชน์ต่อการพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป