NIDA Poll เรื่อง คมนาคมไฟเขียว ขึ้นค่าแท็กซี่มิเตอร์

ข่าวทั่วไป Tuesday August 13, 2019 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--นิด้าโพล ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "คมนาคมไฟเขียว ขึ้นค่าแท็กซี่มิเตอร์" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 – 9 สิงหาคม 2562 จากผู้ที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,505 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการขึ้นค่าแท็กซี่มิเตอร์ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" วิธีสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการขึ้นค่าแท็กซี่มิเตอร์ กม.ที่ 1 – 10 กม. จาก 6 บาท เป็น 6.50 บาท/กม. พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.52 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ราคาเดิมสูงอยู่แล้ว ราคาแก๊ส/น้ำมัน ยังไม่สูงมาก ยังไม่สมควรขึ้นค่าโดยสาร และการบริการ ยังไม่สมกับราคาที่เพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 35.02 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ราคาที่ขึ้นยังพอรับได้สมเหตุสมผล เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น และอาจจะช่วยลดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารได้ และร้อยละ 2.46 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการขึ้นค่าแท็กซี่มิเตอร์ในกรณีรถติด จากนาทีละ 2 บาทเป็น 3 บาท พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.00 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่จำเป็นต้องขึ้นราคาในกรณีรถติด เนื่องจากเป็นสิ่งที่ต้องบริการประชาชนอยู่แล้วไม่สมควรเก็บเพิ่ม รองลงมา ร้อยละ 18.07 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการแก้ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารได้ และร้อยละ 0.93 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ ส่วนการใช้บริการแท็กซี่มิเตอร์ในสนามบิน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.40 ระบุว่า ไม่เคยใช้บริการ ขณะที่ ร้อยละ 39.60 ระบุว่า เคยใช้บริการ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการขึ้นค่าเซอร์ชาร์จ จากการใช้บริการแท็กซี่มิเตอร์ในสนามบิน เพิ่มจาก 50 บาท เป็นรถขนาดเล็กไม่เกิน 70 บาท รถขนาดใหญ่ไม่เกิน 90 บาท (เฉพาะผู้ที่ตอบเคยใช้บริการแท็กซี่มิเตอร์ในสนามบิน) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.34 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการเอาเปรียบผู้โดยสาร เนื่องจากไม่สามารถเรียกรถแท็กซี่ภายนอกเข้ามารับภายในสนามบินได้ ราคาเดิมเหมาะสมดีอยู่แล้ว และการบริการของแท็กซี่สนามบินยังไม่ดีเท่าที่ควร รองลงมา ร้อยละ 22.15 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ การบริการสอดคล้องกับการขึ้นราคา และ ค่าเซอร์ชาร์จที่เพิ่มขึ้นยังพอรับได้ และร้อยละ 1.51 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเก็บค่าสัมภาระจากการใช้บริการแท็กซี่มิเตอร์ในสนามบินโดยขนาดเกิน 26 นิ้ว จะบริการฟรี 2 ชิ้นแรก ชิ้นที่ 3 เป็นต้นไป เก็บชิ้นละ 20 บาท (เฉพาะผู้ที่ตอบเคยใช้บริการแท็กซี่มิเตอร์ในสนามบิน) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.77 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการบริการของแท๊กซี่และมีค่าเซอร์ชาร์จแล้ว ควรเหมารวมราคากันทีเดียวแต่แรก รองลงมา ร้อยละ 34.06 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ การมีสัมภาระเยอะสมควรที่จะเก็บเพิ่มอยู่แล้ว และเป็นการช่วยค่าซ่อมบำรุงให้กับรถแท๊กซี่ และร้อยละ 1.17 ระบุว่า ไม่ทราบ/ ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.56 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และตัวอย่างร้อยละ 47.44 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล ตัวอย่างร้อยละ 53.16 เป็นเพศชาย และร้อยละ 46.84 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.24 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 16.55 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 20.80 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.16 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 24.25 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.22 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.85 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.13 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.80 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 29.04 สถานภาพโสด ร้อยละ 65.51 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.59 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.86 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 17.74 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.05 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.51 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 39.07 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.77 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.86 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 9.10 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 24.19 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 25.98 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 1.26 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 11.43 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 24.05 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.52 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.07 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 1.40 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 21.93 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 7.51 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 22.19 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 14.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 8.57 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 15.55 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.77 ไม่ระบุรายได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ