กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--การประปาส่วนภูมิภาค
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จัดอบรมหลักสูตรพื้นฐาน"ช่างประปาสร้างอาชีพ"พร้อมเสริมสร้างความรู้ควบคู่กับการมอบกำลังใจให้แก่ผู้ต้องขัง ที่ใกล้พ้นโทษออกจากเรือนจำ/ทัณฑสถาน 8 แห่ง ตามโครงการ "6 รัฐกิจสัมพันธ์ ปันน้ำใจ คืนความสุขสู่ผู้ต้องขังราชทัณฑ์" ระหว่างวันที่ 5 - 23 สิงหาคม 2562
ดร.นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นจากกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 6 แห่ง คือ การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง องค์การตลาด และองค์การจัดการน้ำเสีย บูรณาการความร่วมมือเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน จัดโครงการ"6 รัฐกิจสัมพันธ์ ปันน้ำใจ คืนความสุขสู่ผู้ต้องขังราชทัณฑ์" โดยการจัดอบรมเพื่อฝึกอาชีพแก่ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษเพื่อกลับเข้าสู่สังคม ทั้งนี้ กปภ. ซึ่งมีภารกิจหลักในการผลิตและส่งจ่ายน้ำประปาให้กับประชาชนในส่วนภูมิภาค โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำประปาอย่างมืออาชีพ และ กปภ. ยังตระหนักถึงความสำคัญในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปลูกฝังพนักงานให้มีจิตสาธารณะ เอื้อเฟื้อพร้อมช่วยเหลือสังคม อย่างภาคภูมิใจ สอดคล้องกับค่านิยมองค์กร "มุ่ง-มั่น-เพื่อปวงชน" จึงได้จัดหลักสูตร"ช่างประปาสร้างอาชีพ" เพื่อแบ่งปันความรู้ด้านวิชาชีพประปาเบื้องต้นให้กับผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษออกจากเรือนจำ / ทัณฑสถาน กว่า 200 คน จากเรือนจำ / ทัณฑสถาน จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว (เรือนจำกลาง จ.ระยอง) ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก จ.นครราชสีมา เรือนจำกลางเพชรบุรี เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง จ.เพชรบุรี เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ (เรือนจำชั่วคราวโคกคำม่วง) เรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ด (เรือนจำชั่วคราวรอบเมือง) เรือนจำชั่วคราวห้วยม้า (เรือนจำ จ.แพร่) เรือนจำชั่วคราวร่องห้า (เรือนจำ จ.พะเยา) ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง (เรือนจำชั่วคราวปงยางคก) โดยให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อาทิ กระบวนการผลิตน้ำประปาและการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ระบบไฟฟ้าในงานประปา ความรู้เรื่องปั๊มน้ำ ถังพักน้ำ การเปลี่ยนอุปกรณ์งานประปาภายในบ้าน การต่อท่อประปาเบื้องต้น ฯลฯ
ผู้ว่าการ กปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ "ช่างประปาสร้างอาชีพ" มีส่วนสำคัญในการสร้างพื้นที่คืนคนดีสู่สังคม เนื่องจากผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบสัมมาชีพ เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว โดยไม่กลับไปหลงผิด และตั้งมั่นในความสุจริต มีชีวิตที่พอเพียงและสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้โดยปกติสุข