กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
กยท. รับนโยบาย รมว.กษ. เร่งกำหนดมาตรการช่วยชาวสวนยาง ประเดิมโครงการแรกประกันรายได้เกษตรกร เสนอวิธีจัดการสต็อกยางนำไปทำพลังงานหรือผลิตภัณฑ์ใช้ในประเทศ พร้อมปฏิรูปการทำงานเชิงรุก ยกระดับฐานข้อมูลเป็นศูนย์กลางด้านยางพารา
นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร เผยหลังประชุมรับนโยบายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) พร้อมคณะที่เดินทางมาตรวจเยี่ยม กยท. ว่า วันนี้ได้รายงานข้อมูลการดำเนินงานตามภารกิจ และพูดคุยถึงปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลต่อการดำเนินโครงการสำคัญของ กยท. ซึ่ง รมว.กษ. เน้นย้ำให้ กยท.สานต่อโครงการต่างๆ ที่ทำให้ส่งยางออกนอกระบบได้ พร้อมกำชับให้มีการวางแผนระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้ยางพาราล้นตลาด แนะการเอาเงินของรัฐมาใช้พยุงราคายางต้องมีระบบหรือกระบวนการชัดเจน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อหาแนวทางและข้อตกลงร่วมกัน ประเดิมโครงการแรกประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยมอบหมายให้ กยท.เตรียมข้อมูล เพื่อร่วมประชุมวางแผนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินงานโครงการในวันอังคารที่ 13 สิงหาคม นี้ คาดใช้เวลา ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับยางพาราในสต๊อกจากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางและโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ได้มีการหารือถึงวิธีการจัดการ โดยเอาไปทำพลังงานหรือนำไปทำผลิตภัณฑ์ เช่น เสาหลักนำทาง เสาแบ่งเลน ยางชะลอความเร็ว อุปกรณ์งานทาง พื้นสนาม ฯลฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์เพราะวัตถุดิบยางมีอยู่แล้ว ซึ่งจะส่งผลบวกต่อราคายาง อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับมติคณะรัฐมนตรี
ส่วนการดำเนินงานตามนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ มีนโยบายให้ทบทวนโครงการ ที่ประสบปัญหาอุปสรรค โดยให้เสนอแนวทางการดำเนินงานใหม่ เพื่อสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมให้วางแผนกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราเพิ่ม หวังให้ประกาศแนวทางที่ชัดเจนภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดย รมว.กษ. จะรับผิดชอบดูแลบริหารงานด้านยางพาราด้วยตนเอง ซึ่งวันนี้ได้เริ่มต้นขับเคลื่อนแล้ว นอกจากนี้ ได้ฝากทิ้งท้ายให้ กยท. พัฒนาองค์กร ให้ทันสมัย ปฏิรูปการทำงานเชิงรุก ยกระดับฐานข้อมูลให้เป็นศูนย์กลางด้านยางพารา เน้นงานด้านการส่งเสริมการผลิต การวิจัย และการแปรรูปยางพารา โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความพร้อมสามารถรับมือและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้