กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)กล่าวว่า เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(พ.ศ. 2561–2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ได้วางเป้าหมายให้ให้มีการขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าเกษตรปลอดภัยอย่างจริงจัง ตลอดจนสร้างความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มผลิตภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณเพื่อสร้างมูลค่า หนึ่งในเป้าหมายที่จะทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหารจูงใจและวางกรอบให้เกษตรกรและผู้ผลิตทำการผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับมาตรฐานประกอบกับกระแสความใส่ใจในสุขภาพกำลังเป็นทิศทางใหม่ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
ดังนั้น มกอช.จึงได้จัดทำโครงการการเสริมสร้างองค์ความรู้และขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้น เพื่อมุ่งสร้างเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์รายใหม่และส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพื่อผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ตอบสนองความต้องการของตลาด ตลอดจนสร้างโอกาสในการแข่งขันด้านเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยการอบรมจะเน้นกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการตลาด 2 ช่องทางหลัก คือ การส่งเสริมช่องทางการตลาดด้วยระบบดิจิทัล เช่น เว็บไซด์ DGTfarm.com, QR Tracec และการจับคู่ธุรกิจเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ (Business Matching) พร้อมจัดนิทรรศการนำเสนอผลผลิตของเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จ นวัตกรรม การเกษตรสมัยใหม่ รวมทั้งช่องทางการจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์รูปแบบใหม่ โดยปี 2562 นี้วางเป้าหมายอบรมเกษตรรุ่นใหม่ (Yong Smart Farmer) และเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ ทุกภาครวม จำนวน 189 คน
นางสาวจูอะดี กล่าวย้ำด้วยว่า มกอช.มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะผลักดันให้ประเทศไทยมีพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินปี 2562 ล่าสุด พบว่าปัจจุบันมีเกษตรกรที่ผ่านมาการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว จำนวน 37,868 รายคิดเป็นพื้นที่ 333,267 ไร่ ในส่วนของกรมการข้าว 27,454 ราย กรมวิชาการเกษตร 5,447 ราย สปก.4,401 ราย กรมพัฒนาที่ดิน 164ราย กรมประมง 145 ราย กรมปศุสัตว์ 205 รายและกรมหม่อนไหม 52 ราย
นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ กระทรวงพาณิชย์ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยมีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดภายในประเทศ 900 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณ 10% ต่อปี และตลาดต่างประเทศ 2,100 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าการส่งออกคิดเป็น 0.06% ของมูลค่าตลาดโลก ในขณะที่ตลาดเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 104,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.55 ล้านล้านบาท มีอัตราการขยายตัวปีละ 20% โดยมีตลาดเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา ยุโรป จีน ออสเตรเลีย ซึ่งเห็นได้ว่าตลาดเกษตรอินทรีย์ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก
นางสาวจูอะดี กล่าวด้วยว่า จากความเติบโตของตลาดสินค้าอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน พบว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนสมัยใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับอาหารการกิน จึงเกิดเป็นโอกาสของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพที่น่าสนใจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ยังคงนับว่าเป็นกลุ่มสินค้าเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพแข็งแกร่งและมีอัตราการขยายตัวของตลาดสูงทำให้มีการขยายตัวของพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์โลกที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในรูปแบบการพัฒนาการเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ที่เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการประกอบอาชีพของเกษตรกร ที่สามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับกระแสของกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ประกอบกับต้องการยกระดับตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัยของไทยทั้งสินค้าออร์แกนิคและสินค้า GAP ให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายในและต่างประเทศให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น มกอช.ได้เร่งส่งเสริมอบรมระบบการขายผ่านเว๊บไซต์า DGTFarm.com เพื่อเปิดมิติใหม่สินค้าเกษตรไทยบนโลกออนไลน์ โดยในเว๊บไซต์ดังกล่าว จะแบ่งตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตรเป็น 3 ตลาด ดังนี้
1.ตลาดเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรที่มีขั้นตอนการผลิตตามหลักธรรมชาติบนพื้นที่เกษตรที่ไม่มีสารพิษและสารเคมีปนเปิ้อน ประกอบด้วยสินค้า ผัก ผลไม้ ข้าวและ สินค้าแปรรูป 2.ตลาดเกษตรปลอดภัย GAP สินค้าเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษหรือสารเคมี หรือมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP นอกจากผัก ผลไม้ สินค้าแปรรูป ไข่และข้าว ประมง ปศุสัตว์แล้วยังมีสินค้าประเทเครื่องสำอางสบู่กล้วยหอมซึ่งเป็นสินค้าเก๋ๆ ของเกษตรกรจากจังหวัดกำแพงเพชรจำหน่ายอีกด้วย และ 3.ตลาดสินค้า QR Trace สินค้าเกษตรที่สามารถตามสอบแหล่งที่มาได้จาก QR Code ที่ติดมาบนตัวสินค้า นอกจากผัก ผลไม้ สินค้าแปรรูป ไข่และข้าวแล้วยังมีเครื่องสำอางอินทิรา Herbal Soap คลีนซิ่งโฟมสับปะรดผสมมะเฟืองของเกษตรกรบ้านคา จังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมอีกด้วย ทั้งนี้ มกอช.มั่นใจว่าจะทำเกษตรกรให้มีช่องทางและโอกาสทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ซื้อมั่นใจได้ว่า สินค้าเกษตรที่นำมาจำหน่ายในตลาดออนไลน์นี้ล้วนเป็นสินค้าคุณภาพมาตรฐาน ไม่มีการหลอกขายสินค้า เพราะมกอช.มีการตรวจสอบแหล่งผลิตก่อนให้ลงจำหน่ายทุกชนิดสินค้าโดยปัจจุบันมีผู้ที่ทำเกษตรอินทรีย์และGAP เป็นสมาชิกในระบบแล้วกว่า 1,000รายและมีเครือข่ายผู้ผลิตรวมแล้วเป็น 10,000 ราย ครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ